ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา เช่น วิสุทธิมัคค์42 เป็นต้น อธิบายความแตกต่างระหว่างสัญญา วิญญาณ และปัญญาไว้ว่า สัญญาเพียงรู้จักอารมณ์ว่า เขียว เหลือง เป็นต้น (คือรู้อาการของอารมณ์) ไม่อาจให้ถึงความเข้าใจลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้; วิญญาณรู้อารมณ์ว่า เขียว เหลือง เป็นต้น ได้ด้วย ทำให้ถึงความเข้าใจลักษณะว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ด้วย (คือเข้าใจตามที่ปัญญาบอก) แต่ไม่อาจส่งให้ถึงความปรากฏแห่งมรรค (คือ ให้ตรัสรู้อริยสัจไม่ได้); ส่วนปัญญาทั้งรู้อารมณ์ ทั้งให้ถึงความเข้าใจลักษณะ และทั้งส่งให้ถึงความปรากฏขึ้นแห่งมรรค
ท่านอุปมาว่า เหมือนคน ๓ คน มองดูเหรียญกษาปณ์ สัญญาเปรียบเหมือนเด็กยังไม่เดียงสา มองดูเหรียญแล้วรู้แต่รูปร่าง ยาว สั้น เหลี่ยม กลม สี และลวดลายแปลกๆ สวยงามของเหรียญนั้น ไม่รู้ว่าเป็นของที่เขาตกลงกันใช้เป็นสื่อการแลกเปลี่ยนซื้อขาย วิญญาณเปรียบเหมือนชาวบ้านเห็นเหรียญแล้วรู้ทั้งรูปร่างลวดลาย และรู้ว่าใช้เป็นสื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ แต่ไม่รู้ซึ้งลงไปว่า เหรียญนี้แท้ เหรียญนี้ปลอม มีโลหะอะไรผสมกี่ส่วน ปัญญาเปรียบเหมือนเหรัญญิกซึ่งรู้ทุกแง่ที่กล่าวมาแล้ว และรู้ชำนาญจนกระทั่งว่า จะมองดูก็รู้ ฟังเสียงเคาะก็รู้ ดม ชิม หรือเอามือชั่งดูก็รู้ รู้ตลอดไปถึงว่า เหรียญนี้ทำที่นั้นๆ ผู้ชำนาญคนนั้นๆ ทำ
อนึ่ง ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป บางทีมีแต่สัญญาและวิญญาณ หาได้มีปัญญาด้วยไม่ แต่คราวใดมีปัญญาเกิดร่วมด้วยกับสัญญาและวิญญาณ คราวนั้นก็ยากที่จะแยกให้เห็นความแตกต่างจากกันและกัน
เมื่อชาลีและกัณหา เดินถอยหลังลงไปซ่อนองค์ในสระน้ำ ด้วยเข้าใจว่าผู้ตามหาเห็นรอยเท้าแล้วจะเข้าใจว่า เธอทั้งสองขึ้นมาแล้วจากสระน้ำ ความคิดที่ทำเช่นนั้นก็เรียกว่าเป็นปัญญา ต่อมาเมื่อพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นรอยบาทของเธอทั้งสองแล้วทรงทราบทันทีว่าพระราชบุตร ราชบุตรีดำเนินถอยหลังลงไปซ่อนอยู่ในสระน้ำ เพราะมีแต่รอยเท้าเดินขึ้นอย่างเดียว ไม่มีรอยลง อีกทั้งรอยนั้นก็กดลงหนักทางส้นเท้า ความรู้เท่าทันนี้ก็เรียกว่าปัญญา ในสองกรณีนี้จะเห็นได้ว่าปัญญามีความรอบคอบและลึกซึ้งกว่ากัน ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการที่ปัญญาใช้ประโยชน์จากสัญญาด้วย
การที่เจ้าชายสิทธัตถะ ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วทรงคำนึงเห็นความทุกข์ที่มวลมนุษย์ต้องประสบทั่วสากล และเข้าพระทัยถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ ล้วนเกิดขึ้นแล้วปรวนแปรและสิ้นสุดด้วยแตกดับ ควรระงับความทุกข์อันเนื่องมาจากสาเหตุเช่นนั้นเสีย ความเข้าใจนั้นก็เรียกว่าเป็นปัญญา เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ได้เสด็จไปโปรดพวกกัสสปชฎิล ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ ให้เลื่อมใสยอมรับคำสอนของพระองค์ก่อน พระปรีชาอันให้ดำริที่จะทรงกระทำเช่นนั้น ก็เรียกว่าเป็นปัญญา
ปัญญาเป็นคำกลางสำหรับความรู้ประเภทที่กล่าวมานี้ และปัญญานั้นมีหลายขั้นหลายระดับ เช่น ที่แบ่งเป็นโลกิยปัญญา โลกุตรปัญญา เป็นต้น มีคำศัพท์หลายคำ ที่ใช้ในความหมายจำเพาะ หมายถึง ปัญญาในขั้นใดขั้นหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่ง แง่ใดแง่หนึ่ง หรือเนื่องด้วยกิจเฉพาะ คุณสมบัติเฉพาะหรือประโยชน์เฉพาะบางอย่าง เช่น ญาณ วิชชา วิปัสสนา สัมปชัญญะ ปริญญา อภิญญา ปฏิสัมภิทา เป็นต้น.