ไปยังหน้า : |
ปฏิจจสมุปบาท แปลพอให้ได้ความหมายในเบื้องต้นว่า การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายโดยอาศัยกัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น หรือการที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา
ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา ไม่เกี่ยวกับการอุบัติของพระศาสดาทั้งหลาย
พุทธพจน์แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปของกฎธรรมชาติว่าดังนี้
“ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ดำรงอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือ อิทัปปัจจยตา 282
ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่าย และจึงตรัสว่า “จงดูสิ”
“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ”
“ภิกษุทั้งหลาย ตถตา (ภาวะที่เป็นอย่างนั้น) อวิตถตา (ภาวะที่ไม่คลาดจากการเป็นอย่างนั้น) อนัญญถตา (ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น) คืออิทัปปัจจยตา ดังกล่าวมานี้แล เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท” 283
ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท จะเห็นได้จากพุทธพจน์ว่า
“ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น เห็นปฏิจจสมุปบาท” 284
“ภิกษุทั้งหลาย แท้จริง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ
เมื่อใด อริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิดและความดับของโลกตามที่มันเป็นอย่างนี้ อริยสาวกนี้ เรียกว่าเป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้ลุถึงสัทธรรมนี้ ก็ได้ ว่าผู้ประกอบด้วยเสขญาณ ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชา ก็ได้ ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้ว ก็ได้ พระอริยะผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ก็ได้ ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ ก็ได้” 285