| |

“คนขึ้นแพน้อยไปในมหาสมุทร พึงจมเสีย ฉันใด แม้แต่สาธุชน อาศัยคนเกียจคร้าน ก็ย่อมจมลงได้ ฉันนั้น, เพราะฉะนั้น ควรเว้นห่างคนเกียจคร้าน มีความเพียรทรามอย่างนั้นเสีย พึงอยู่ร่วมกับเหล่าบัณฑิต ผู้สงัด ผู้เป็นอารยะ ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งพินิจ ผู้เร่งระดมความเพียรเป็นนิตย์”1178

สุภาษิตทำนองนี้ แม้ไม่ต้องยกมาแสดงมาก ก็พอให้ข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบได้ว่า

- พุทธพจน์เกี่ยวกับการเสวนาที่ตรัสแก่พระภิกษุ โดยมากมีจุดหมายมุ่งตรงต่อปรมัตถ์ และประสงค์จะเสริมสร้างสัมมาทิฏฐิในแนวที่จะเป็นโลกุตระอย่างเด่นชัด

- ส่วนที่แสดงสำหรับคนทั่วไป หรือชาวบ้าน เน้นประโยชน์ในขั้นทิฏฐธัมมิกัตถะ เชื่อมกับสัมปรายิกัตถะ มุ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชีวิตประจำวัน กลมกลืนไปกับการชักจูงสัมมาทิฏฐิในระดับโลกีย์ คือความเชื่อกรรม ความสำนึกรับผิดชอบเกี่ยวกับความดีความชั่ว ยังไม่เน้นสัมมาทิฏฐิแนวที่จะเป็นโลกุตระ คือ การมองโลกและชีวิตตามสภาวะ เป็นทำนองปล่อยให้แฝงอยู่ และสอนสอดแทรกไปตามโอกาส1179 อย่างที่เรียกว่าค่อยๆ ปูพื้นฐานจิตใจให้พร้อมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะคนทั่วไปมีหลายระดับ

คุณสมบัติของกัลยาณมิตร  |   |  

คนดี ว่าโดยลักษณะเฉพาะตัวของเขา ที่เรียกว่าเป็นสัตบุรุษ หรือบัณฑิต มีคุณสมบัติบางอย่างที่ควรทราบ ดังนี้

สัตบุรุษ คือคนดี หรือคนที่แท้ มีธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ดังนี้1180

๑. ธัมมัญญุตา รู้หลักและรู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริงของธรรมชาติ รู้หลักการ กฎเกณฑ์แบบแผน หน้าที่ ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทำการได้สำเร็จผลตามความมุ่งหมาย เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมที่ตนจะต้องศึกษาและปฏิบัติคืออะไร มีอะไรบ้าง ผู้ปกครองรู้ธรรมของผู้ปกครอง คือรู้หลักการปกครอง

๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล คือ รู้ความหมายและความมุ่งหมายของหลักธรรม หรือหลักการ กฎเกณฑ์ หน้าที่ รู้ผลที่ประสงค์ของกิจที่จะกระทำ เช่น ภิกษุรู้ว่าธรรมที่ตนศึกษาและปฏิบัตินั้นๆ มีความหมายและความมุ่งหมายอย่างไร ตลอดจนรู้จักประโยชน์ที่เป็นจุดหมายหรือสาระของชีวิต

๓. อัตตัญญุตา รู้จักตน คือ รู้ฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความถนัด ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ของตน ตามเป็นจริง เพื่อประพฤติปฏิบัติได้เหมาะสม และให้เกิดผลดี เช่น ภิกษุรู้ว่าตนมีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณแค่ไหน

๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ คือ รู้ความพอเหมาะพอดี เช่น รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ในการใช้จ่ายทรัพย์ ภิกษุรู้จักประมาณในการรับปัจจัย ๔ เป็นต้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |