ไปยังหน้า : |
กระบวนธรรมดังที่แสดงตามลำดับมา เมื่อประสานกับหลักการพัฒนาปัญญา หรือองค์ประกอบที่ทำให้เป็นโสดาบันนั้น อาจเขียนได้ดังนี้
เสวนาสัตบุรุษ (มีกัลยาณมิตร) → สดับธรรม →(ศรัทธา) → โยนิโสมนสิการ → ปฏิบัติธรรมถูกหลัก
พุทธพจน์ต่อไปนี้ แม้จะมิได้ระบุองค์ประกอบข้อโยนิโสมนสิการ แต่ก็แสดงให้เห็นการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ซึ่งให้ความเป็นอิสระแก่ผู้ศึกษา นำไปสู่การรู้เข้าใจประจักษ์ด้วยตนเอง ดังคำสนทนาต่อไปนี้1236
มาคัณฑิยะ: ข้าพเจ้าก็เลื่อมใสต่อท่านพระสมณโคดมอย่างนี้แล้ว, ท่านพระโคดมผู้เจริญ พอจะทรงช่วยแสดงธรรม ให้ข้าพเจ้าลุกขึ้นจากอาสนะนี้โดยหายมืดบอดได้ไหม?
พระพุทธเจ้า: ถ้าอย่างนั้น มาคัณฑิยะ ท่านพึงคบหาสัตบุรุษทั้งหลาย เพราะเมื่อท่านคบหาสัตบุรุษ ท่านจักได้สดับสัทธรรม, เมื่อท่านได้สดับสัทธรรม ท่านก็จักปฏิบัติธรรมถูกหลัก, เมื่อท่านปฏิบัติธรรมถูกหลัก ท่านก็จักรู้ได้เองเห็นได้เองทีเดียวว่า โรค (ทางจิต) ฝีร้าย (ในใจ) ศรที่คอยทิ่มแทงใจ คือเหล่านี้ๆ, โรค ฝีร้าย ศรแทงใจ จะดับไปได้ ณ ที่นี้ (คือ) เพราะอุปาทานของเรานั้นดับไป ภพก็ดับ ฯลฯ ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็จะดับไป, ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ก็จะมีได้ ด้วยประการฉะนี้
และอีกแห่งหนึ่ง ว่าดังนี้1237
โธตกมาณพ: ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปัญญาจักษุเห็นรอบด้าน ข้าฯ ขอน้อมนมัสการพระองค์ ข้าแต่พระศากยะ ขอได้โปรดปลดปล่อยข้าพระองค์จากข้อสงสัยทั้งหลายด้วยเถิด
พระพุทธเจ้า: ดูกรโธตกะ เราไม่สามารถปลดปล่อยใครๆ ในโลก ผู้ยังมีความสงสัยอยู่ให้พ้นไป ได้, แต่เมื่อท่านรู้ชัดซึ่งธรรมอันประเสริฐ ท่านก็จะข้ามห้วงกิเลสไปได้เอง
ในเมื่ออิสรภาพของผู้ศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และในเมื่อกัลยาณมิตรก็ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้ว ก็จะต้องย้ำถึงการทำหน้าที่ของตัวผู้ศึกษาเองบ้าง เพื่อจะได้ใช้อิสรภาพของตนให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงทำหน้าที่อีกด้านหนึ่งของกัลยาณมิตร คือการแนะนำกระตุ้นเตือนให้ผู้ศึกษาทำหน้าที่ของตนให้ดี ดังมีพุทธพจน์ตรัสสอนเกี่ยวกับการฟังธรรม การสนทนา การปรึกษาสอบถามเป็นอันมาก ตัวอย่างเช่น
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เมื่อฟังสัทธรรม ย่อมเป็นไปได้ที่จะหยั่งลงสู่นิยาม คือความถูกชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย; ๕ ประการอะไรบ้าง? ได้แก่
(๑) ไม่นึกหมิ่นเรื่องที่เขาพูด
(๒) ไม่นึกหมิ่นผู้พูด
(๓) ไม่นึกหมิ่นตนเอง
(๔) ใจไม่ฟุ้งซ่าน ฟังธรรม โดยมีจิตหนึ่งเดียว
(๕) มนสิการโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)”1238