| |
บันทึกพิเศษท้ายบท |  

เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

บันทึกที่ ๑: ความสำคัญของสังคหวัตถุ ๔  |   |  

สังคหวัตถุ ๔ เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งหมวดหนึ่ง มีที่มาในบาลีหลายแห่ง (ที.ปา.11/140/167; ที.ปา.11/267/244; องฺ.จตุกฺก.21/32/42; องฺ.จตุกฺก.21/256/335; องฺ.อฏฺก.23/114/222; องฺ.นวก.23/209/377; ขุ.ชา.28/162/66)

ตัวอย่างที่แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญของการเกื้อกูลสงเคราะห์กันในหมู่ชน และความสามัคคีของสังคม ด้วยการทรงย้ำความสำคัญของหลักสังคหวัตถุ ๔ เช่น หัตถกะอาฬวกะ ซึ่งทรงยกย่องว่าเป็นตราชู ๑ ใน ๒ คน ของอุบาสกบริษัท และถือกันว่าเป็นอัครอุบาสก ก็ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาผู้สงเคราะห์บริษัท/ชุมชน ด้วยสังคหวัตถุ ๔ (องฺ.เอก.20/151/33

เมื่อทรงแสดงสิงคาลกสูตร ว่าด้วยหลักการไหว้ทิศในอริยวินัย ซึ่งอรรถกถาบอกว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้เป็นวินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) ก็ทรงสรุปลงท้ายด้วย สังคหวัตถุ ๔ นี้ (ที.ปา.11/205/206)

อรรถกถาบางแห่งจำกัดความคำ “ราชา” ว่า ผู้ยังประชาชนให้ยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔ (ชา.อ.๑/๒๐๖) และว่า สังคหวัตถุเป็นพรหมจรรย์ เพราะเป็นความประพฤติประเสริฐ (ชา.อ.๑/๒๐๘);

สังคหวัตถุข้อสุดท้าย คือ สมานัตตตา มักมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายอยู่บ้าง เพราะบางแห่งแปลไม่เหมือนกัน, คำว่า สมาน แปลว่า เสมอ หรือร่วม สมานัตตตา จึงแปลว่า ความมีตนเสมอ หรือมีตนร่วม อรรถกถาโดยมากอธิบายในแง่ว่า ร่วมสุขร่วมทุกข์ และให้ความเสมอหรือเท่าเทียมกัน เช่น กินด้วยกัน นั่งด้วยกัน (ที.อ.๓/๑๔๘; องฺ.อ.๒/๓๗๙; ปฏิสํ.อ.๓๕๖; องฺ.อ.๓/๒๘๐) รวมไปถึง “สมานกิจ” คือ ร่วมการงาน หรือร่วมด้วยช่วยกันทำกิจธุระ (เนตฺติ.ฏี.๓๖; เนตฺติ.วิภา.๓๙)

แต่ ปฏิสํ.อ.๓๕๖ แสดงความหมายอีกนัยหนึ่งว่า กำหนดให้สมควร หรือวางตัวให้พอเหมาะพอดี ปฏิบัติให้เหมาะสมกับฐานะของเขา ที่ต่ำกว่า เสมอกัน หรือสูงกว่าตน

ส่วน ชา.อ.๘/๒๐๘ อธิบายแปลกไปอีกว่า ทำตัวให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่ในที่ลับอย่างหนึ่ง ต่อหน้าคนอย่างหนึ่ง เช่น ไหว้พ่อแม่ อยู่ที่เฉพาะกัน ก็ไหว้ ออกแขก ต่อหน้าที่ชุมนุม ก็ไหว้

อย่างไรก็ดี ในขั้นสูงสุด ท่านต้องการให้มีความเสมอกันโดยคุณธรรม (ดู องฺ.นวก.23/209/377)

บันทึกที่ ๒: การแปลบาลีในกาลามสูตร  |   |  

คำบาลี ๑๐ หัวข้อ ในพุทธพจน์ที่เรียกกันว่าเป็นหลักความเชื่อในกาลามสูตร เป็นตัวอย่างหนึ่งของข้อความที่แปลให้ตรงความหมายอย่างเต็มใจได้ยาก เหตุข้อแรกที่ทำให้แปลยาก ก็คือ ข้อความแต่ละประโยคนั้นๆ เป็นสำนวนภาษาที่ไม่มีตัวกริยาปรากฏ มีแต่คำว่า “มา” (ทางไวยากรณ์เรียกว่าเป็นนิบาต) ที่แปลว่า “อย่า” ขอให้ดู ๓ ข้อแรกเป็นตัวอย่าง ดังนี้

- มา อนุสฺสเวน (อย่า … ด้วยการฟังตามกันมา)

- มา ปรมฺปราย (อย่า … ด้วยการถือสืบกันมา)

- มา อิติกิราย (อย่า … ด้วยการเล่าลือ) …

ปัญหาสำหรับผู้แปล ก็คือ ตามสำนวนภาษาบาลี ในที่นี้ คำกริยาอะไรถูกละไว้ฐานเข้าใจ หรือว่าจะโยคคำกริยาอะไรใส่หรือเติมเข้ามา

ถ้าว่าตามที่พูดกันมาแบบให้เข้าใจง่ายๆ โดยไม่ต้องตรวจสอบหลักฐาน ก็ว่า “อย่าเชื่อ …”

เมื่อจะตรวจสอบให้รอบคอบขึ้น ตามปกติ ก็ดูพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยก่อน ในสมัยที่หนังสือ พุทธธรรม เกิดขึ้น (พ.ศ.๒๕๑๔) พระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยมีอยู่ชุดเดียว คือ พระไตรปิฎกภาษาไทย อนุสรณ์งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พุทธศักราช ๒๕๐๐ ซึ่งแปลพุทธพจน์ตรงนี้ว่า “อย่ายึดถือ …”

ผู้เรียบเรียงอ่านคำแปลนี้แล้ว รู้สึกว่าสื่อความหมายน่าจะไม่พอดี ยังไม่ตรงอย่างเต็มใจ ก็ดูต่อไป โดยค้นหาคำอธิบายของอรรถกถา ซึ่งปรากฏว่าท่านเติมคำกริยาให้ เป็น “มา คณฺหิตฺถ” ซึ่งแปลว่า อย่าถือเอา หรืออย่ายึดถือ (องฺ.อ.2/154/203)


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |