ไปยังหน้า : |
โดยเฉพาะข้อสุดท้าย คืออุเบกขานี่แหละ เป็นองค์ธรรมจำเพาะสำหรับป้องกัน ไม่ให้เมตตากลายเป็นเครื่องปิดกั้นบดบังปัญญา
ท่ามกลางธรรมชาติที่เกื้อกูลบ้าง ไม่เกื้อกูลบ้างนั้น ชีวิตมนุษย์ไม่มีความมั่นคง มนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด แสวงหาเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต หลีกหนีและกำจัดสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์
เมื่อไม่รู้สภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติ ก็ยึดมั่นต่อสิ่งที่ตนใฝ่เพื่อสนองความอยาก ทุ่มเทคุณค่าให้แก่สิ่งเหล่านั้น มองเห็นโลกเป็นแดนที่จะทะยานหาสิ่งเสพ เป็นที่ให้ความสุขและทุกสิ่งที่ปรารถนา มองเห็นตนในฐานเป็นผู้ครอบครองเสพเสวยโลก มองเห็นผู้อื่นเป็นตัวขัดขวางหรือผู้แย่งชิง ทำให้เกิดความหวงแหน ความชิงชัง ความเกลียดกลัว การเหยียดหยามดูถูก การแข่งขันแย่งชิง การเบียดเบียน และการครอบงำกันระหว่างมนุษย์
ยิ่งกว่านั้น เมื่อการไม่เป็นไปสมปรารถนา หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายหลัง ก็เกิดความทุกข์อย่างรุนแรง
ครั้นมีกัลยาณมิตรช่วยชักจูง ฝึกให้เห็นคุณค่าของเมตตาธรรม ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์และต่อธรรมชาติก็ดีขึ้น แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงสัมมาทิฏฐิระดับโลกีย์
ถ้าจะให้ลึกซึ้งและมั่นคงแน่นแฟ้นแท้จริง ก็ต้องฝึกให้เกิดสัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระด้วย โดยให้เข้าใจสภาวะที่แท้จริงของโลกและชีวิตว่า ล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย โลกธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีแก่นสารที่เป็นของมันเอง และที่จะให้ดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเอง ไม่อาจจะเข้าไปครอบครองเอาไว้ได้จริง และไม่สามารถให้ความหมายแท้จริงแก่ชีวิต
แม้ถึงชีวิตของเราเอง ก็มิใช่มีตัวตนที่จะเข้าไปครอบครองอะไรเอาไว้ได้จริงจัง ชีวิตเรา ชีวิตเขา ก็เป็นไปตามกฎธรรมดาอย่างเดียวกัน มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น ต่างก็รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน และชีวิตทั้งหลายที่เป็นอยู่ได้ ก็ต้องสัมพันธ์พึ่งอาศัยกันด้วย
ความรู้ความเข้าใจถึงสภาวะเช่นนี้ จะต้องมีเป็นพื้นฐานไว้บ้าง แม้แต่ในเด็กๆ เพื่อให้รู้จักวางใจ วางท่าทีต่อโลก ต่อชีวิต และต่อเพื่อนมนุษย์ได้ถูกต้อง ทำให้จัดระบบการตีค่าทางความคิดใหม่ โดยเปลี่ยนจากใช้ตัณหา หันมาใช้ปัญญาเป็นเครื่องวัดค่า รู้ว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้จริงสำหรับชีวิต ที่ควรแก่ฉันทะ รู้จักทำจิตใจให้เป็นอิสระเบิกบาน ผ่อนคลายหายทุกข์ได้แยบคายขึ้น และเป็นวิธีบรรเทาความโลภ โกรธ หลง ลดการแย่งชิงเบียดเบียนและลดปัญหาทางศีลธรรม ชนิดที่มีฐานมั่นคงอยู่ภายใน
เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเจริญสู่จุดหมาย ด้วยการอุดหนุนขององค์ประกอบต่างๆ ดังที่ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ อันองค์ประกอบ ๕ อย่างคอยหนุน (อนุเคราะห์) ย่อมมี เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เป็นผลานิสงส์ องค์ประกอบ ๕ อย่างนั้น คือ
(๑) ศีล (ความประพฤติดีงามเกื้อกูล พฤติกรรมไม่ขัดแย้งเบียดเบียน)
(๒) สุตะ (ความรู้จากการสดับ เล่าเรียน อ่านตำรา การแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติม)
(๓) สากัจฉา (การสนทนา ถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบค้นความรู้)
(๔) สมถะ (ความสงบ การทำใจให้สงบ การไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ)
(๕) วิปัสสนา (การใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของมัน คือตามเป็นจริง)”1433