| |
ความนำ  |   |  
ฐานะของความคิด ในระบบการดำเนินชีวิตที่ดี

คนเรานี้ จะมีความสุขอย่างแท้จริง ก็ต้องดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง คือจะต้องปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตของตนเอง และต่อสภาพแวดล้อม ทั้งทางสังคม ทางธรรมชาติ และทางวัตถุโดยทั่วไป รวมทั้งเทคโนโลยี คนที่รู้จักดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง ย่อมมีชีวิตที่ดีงาม และมีความสุขที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงการมีความสุขที่เอื้อต่อการเกิดมีความสุขของผู้อื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง หรือการปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย อย่างที่กล่าวมานี้ เป็นการพูดแบบรวมความ ซึ่งถ้าจะให้มองเห็นชัดเจน จะต้องแบ่งซอยออกไปเป็นการปฏิบัติถูกต้องในกิจกรรมส่วนย่อยต่างๆ ของการดำเนินชีวิตนั้นมากมาย หลายแง่หลายด้าน

ดังนั้น เพื่อเสริมความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงควรกล่าวถึงการปฏิบัติถูกต้องในแง่ด้านทั้งหลาย ซึ่งเป็นส่วนย่อยที่ประกอบกันขึ้นเป็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั้น หรือกระจายความหมายของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั้นออกไป ให้เห็นการปฏิบัติถูกต้องแต่ละแง่แต่ละด้าน ที่เป็นส่วนย่อยของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั้น

การดำเนินชีวิตนั้น มองในแง่หนึ่งก็คือ การดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้อยู่รอด หรือการนำชีวิตไปให้ล่วงพ้นสิ่งบีบคั้นติดขัดคับข้อง เพื่อให้เป็นอยู่ได้ด้วยดี การดำเนินชีวิตที่มองในแง่นี้ พูดอย่างสั้นๆ ก็คือ การแก้ปัญหา หรือการดับทุกข์ ผู้ที่แก้ปัญหาได้ถูกต้อง ล่วงพ้นปัญหาไปได้ด้วยดี ก็ย่อมเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต เป็นอยู่อย่างไร้ทุกข์ โดยนัยนี้ การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องได้ผลดี ก็คือ การรู้จักแก้ปัญหา หรือเรียกง่ายๆ ว่า แก้ปัญหาเป็น

มองอีกแง่หนึ่ง การดำเนินชีวิตของคนเรา ก็คือ การประกอบกิจกรรมหรือทำการต่างๆ โดยเคลื่อนไหวแสดงออก เป็นพฤติกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ถ้าไม่แสดงออกมาภายนอก ก็ทำอยู่ภายใน เป็นพฤติกรรมของจิตใจ พูดรวมง่ายๆ ว่า ทำ พูด คิด หรือใช้คำศัพท์ว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีชื่อรวมเรียกว่า กรรมทางไตรทวาร

ในแง่นี้ การดำเนินชีวิต ก็คือ การทำกรรมทั้ง ๓ ประการ ผู้ที่ทำกรรม ๓ อย่างนี้ได้อย่างถูกต้อง ก็ย่อมดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดี ดังนั้น การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้ผลดี ก็คือ การรู้จักทำ รู้จักพูด รู้จักคิด เรียกง่ายๆ ว่า คิดเป็น พูดเป็น (หรือสื่อสารเป็น) และทำเป็น (รวมทั้งผลิตเป็น)


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |