ไปยังหน้า : |
ดังได้กล่าวแล้วว่า พุทธศาสนามองจริยธรรมในแง่ของการถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือการนำเอา (ความรู้ใน) กฎธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ดังนั้น จึงได้ให้ความหมายของจริยะอันประเสริฐคือจริยธรรมที่ถูกต้องแท้จริงไว้ว่า เป็นการดำเนินชีวิต โดยวิถีทางที่จะทำให้ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ บังเกิดเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ให้มากที่สุด หรือการดำเนินชีวิตด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาของธรรมชาติ โดยประพฤติปฏิบัติในทางที่จะผลักดันและสรรค์สร้างเหตุปัจจัยต่างๆ ให้เป็นไปอย่างก่อผลดีบังเกิดคุณประโยชน์แก่มนุษย์ ดังจะเห็นได้ชัดในคำสอนเกี่ยวกับหลักกรรม เป็นต้น
โดยนัยนี้ ถ้าใช้ศัพท์เฉพาะทางธรรม ก็เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ปฏิปทาที่นำเอามัชเฌนธรรมเทศนามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ เพื่อบรรลุผลที่มุ่งหมายของมัชเฌนธรรมเทศนานั้นเอง
ตามความหมายที่ได้แสดงมา จะมองเห็นหลักการสำคัญของ จริยะ ว่าแยกแยะออกไปได้เป็น ๓ ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ ๑ รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ หรือรู้เท่าทันธรรมดา ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ขั้นที่ ๒ ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ คือ ปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมดา หรือกฎธรรมชาตินั้น โดยกระทำการที่เป็นเหตุ ให้เหตุปัจจัยทั้งหลายดำเนินไปในทางที่จะก่อผลดี
ขั้นที่ ๓ เมื่อทำอย่างถูกต้องที่ตัวเหตุปัจจัยแล้ว ก็ปล่อยให้เหตุปัจจัยเป็นไปตามธรรมดา หรือตามกฎ จนก่อผลของมันเอง วางใจเป็นอิสระคอยดูอย่างรู้เท่าทัน ไม่ต้องถือมั่นเอาตัวตนเข้าไปผูกรัดขัดติดไว้
ตามหลักการนี้ ความรู้ความเข้าใจเป็นแกนนำของความประพฤติปฏิบัติ เป็นส่วนสำคัญที่ต้องใช้ตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด เมื่อพูดอย่างสั้น จึงเรียกจริยธรรมนี้ว่า การเป็นอยู่ด้วยปัญญา และเรียกบุคคลผู้มีจริยธรรมนี้ว่า บัณฑิต แปลว่า ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา
ด้วยเหตุที่ต้องใช้ปัญญาตั้งแต่เริ่มต้น ระบบจริยะ คือมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทานี้ จึงมี “สัมมาทิฏฐิ”ได้แก่ความเห็นชอบ หรือเข้าใจถูกต้อง เป็นองค์ประกอบข้อแรก