| |

คำสอนและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม และสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา ในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมได้มากที่สุด ก็คือ คำสอนและหลักปฏิบัติในขั้นศีล เพราะศีลเป็นระบบการควบคุมชีวิตด้านนอก เกี่ยวด้วยการแสดงออกทางกายวาจา เป็นระเบียบว่าด้วยความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การดำเนินกิจการต่างๆ ของหมู่ชน การจัดสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ให้เรียบร้อยและเกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่ชนนั้น และแก่ความผาสุกแห่งสมาชิกทั้งปวงของหมู่ชน อันจะเอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถบำเพ็ญกิจกรณีย์ที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิตตามความตกลงนับถือของพวกตน หรือเพื่อเข้าถึงประโยชน์และความดีงามสูงสุดตามอุดมการณ์ของหมู่ชนนั้น ตลอดจนเกื้อกูลแก่การที่หมู่ชนนั้นจะเผยแพร่อุดมการณ์ กิจการ และประโยชน์สุขความดีงามของตนให้แผ่ขยายกว้างขวางออกไป1870

ศีลพื้นฐาน หรือขั้นต้นที่สุด ก็คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกาย หรือวาจา และการไม่ทำลายสติสัมปชัญญะที่เป็นตัวคุ้มศีลของตน ศีลขั้นต้นสุดนี้ นิยมเรียกว่า ศีล ๕

เรื่องศีลกับสังคม หรือคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับสังคมนั้น เป็นเรื่องใหญ่ มีขอบเขตกว้าง ควรยกขึ้นพูดต่างหากอีกเรื่องหนึ่ง แต่เพราะในตอนที่เพิ่งผ่านมา มีความพาดพิงถึง จึงนำบางส่วนที่เกี่ยวข้องและควรทราบมาชี้แจงแทรกไว้คราวหนึ่งก่อน

สามคำสำคัญในชุดของศีล: ศีล วินัย สิกขาบท  |   |  

อย่างไรก็ตาม แม้จะพูดเรื่องนี้เพียงเป็นส่วนแทรก แต่ในเบื้องต้น จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำเล็กน้อย คือ คำว่า “ศีล” นี้ เราพูดอย่างชาวบ้านว่าเป็นคำพระคำหนึ่ง และคำพระแทบทุกคำก็มาจากภาษาบาลี

บรรดาคำเหล่านี้ แต่เดิม ในภาษาบาลีเอง หลายคำมีความหมายแยกไปได้หลายนัย ซับซ้อนอยู่แล้ว พอนำมาใช้ในภาษาไทย พูดต่อๆ กันไป ความหมายที่เข้าใจก็ผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปต่างๆ บางคำถึงกับมีความหมายกลายเป็นตรงข้ามจากเดิมก็มี จึงต้องคอยซักซ้อมทบทวนกันไว้ให้ดี

“ศีล” ที่แปลง่ายๆ ว่า ความประพฤติที่ดีนี้ มีคำในชุดเดียวกันที่สำคัญ ซึ่งควรเข้าใจให้ชัด และแยกกันให้ถูก รวม ๓ คำ คือ ศีล วินัย และสิกขาบท ทั้ง ๓ คำนี้ ในภาษาบาลีเดิม มีความหมายแยกต่างกันชัดเจน แต่บางครั้ง ก็มีการใช้แบบหลวมๆ หรือแบบภาษาชาวบ้าน โดยในบางโอกาสก็ใช้แทนกันบ้าง แต่ถ้าพูดกันเป็นงานเป็นการ อย่างที่เรียกว่าเป็นวิชาการ ก็ใช้ในความหมายที่เคร่งครัด แยกกันออกไป ไม่ให้สับสนปนเป ส่วนในภาษาไทย คำพระจากภาษาบาลีเหล่านี้ ได้ใช้ปนเปและผิดเพี้ยนไปไม่น้อยแล้ว คงแก้ไม่ไหว ผู้ที่ศึกษาควรรู้ตระหนักไว้ และใช้อย่างรู้เท่าทัน โดยมีความเข้าใจในความหมายที่แท้ชัดแจ้งอยู่ภายในของตน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |