ไปยังหน้า : |
ลักษณะสำคัญของนิพพาน ที่สืบเนื่องมาจากความหมายว่า “ดับ” ซึ่งนับว่าเด่นน่าสนใจ มีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. ดับอวิชชา หมายถึง การเกิดญาณทัศนะอันสูงสุด หยั่งรู้สัจธรรม
๒. ดับกิเลส หมายถึง กำจัดความชั่วร้าย และของเสียต่างๆ ภายในจิตใจ หมดเหตุที่จะก่อปัญหาความเดือดร้อนวุ่นวายต่างๆ แก่ชีวิตและสังคม
๓. ดับทุกข์ หมายถึง หมดความทุกข์ บรรลุความสุขอันสูงสุด
เฉพาะลักษณะที่ ๓ คือ ความสุข หรือความดับทุกข์สิ้นทุกข์นี้ แม้จะได้ย้ำไว้บ้างแล้ว ในตอนว่าด้วยภาวะจิตของผู้บรรลุนิพพาน แต่ยังมีข้อที่ควรศึกษาเป็นพิเศษอีกบางอย่าง จึงนำมากล่าวเพิ่มเติมไว้ต่างหาก ณ ที่นี้
ความสุขมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า พุทธจริยธรรมไม่แยกต่างหากจากความสุข
เริ่มแต่ขั้นต้น ในการทำความดีหรือกรรมดีทั่วๆ ไป ที่เรียกว่าบุญ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า “บุญเป็นชื่อของความสุข”2082
ในการเจริญภาวนา บำเพ็ญเพียรทางจิต ความสุขก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะให้เกิดสมาธิ ดังพุทธพจน์ว่า “ผู้มีสุข จิตย่อมตั้งมั่น (เป็นสมาธิ)”2083 และถือเป็นหลักว่า สมาธิมีสุขเป็นปทัฏฐาน ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บรรลุฌานแล้ว ความสุขก็เป็นองค์ประกอบของฌาน ดังที่เรียกว่าเป็นองค์ฌาน ต่อไปจนถึงฌานที่ ๓ 2084 ฌานสมาบัติที่สูงกว่านั้นขึ้นไป แม้จะไม่มีสุขเป็นองค์ฌาน แต่ก็กลับเป็นความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก 2085
จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน ก็เป็นความสุข และเป็นบรมสุข คือสุขสูงสุดด้วย 2086
นอกจากนั้น จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ที่เป็นบรมสุขหรือโพธินั้น ก็พึงบรรลุได้ด้วยความสุข หรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์ 2087