| |

๒. ความรู (ที่ได) ทางมโนทวาร คือ ใจ ไดแก ธรรมารมณ์หรือเรียกสั้นๆ วา ธรรม กลาวคือ สิ่งทั้งหลายที่ใจรูที่ใจคิด ธรรมารมณหรือ ธรรม นี้วาตามแนวอภิธรรม84 ทานแยกแยะใหเห็นชัดขึ้นอีกวา มี ๕ อยาง คือ

ก. เวทนาขันธ์ (หมายถึงเวทนาในฐานะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ข้อต่อๆ ไปก็พึงเข้าใจเช่นเดียวกัน)

ข. สัญญาขันธ์

ค. สังขารขันธ์

ง. อนิทัสสนอัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นไม่ได้ กระทบหรือถูกต้องไม่ได้) อันนับเนื่องในธรรมายตนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุขุมรูป มี ๑๖ อย่าง คือ อาโป (อาโปธาตุ คือสภาวะดึงดูดซึมซาบ) อิตถีภาวะ (ความเป็นหญิง) ปุริสภาวะ (ความเป็นชาย) หทัยรูป (ที่ตั้งแห่งใจ) ชีวิตินทรีย์ อาหารรูป (หมายถึงโอชา) อากาส (คืออวกาศหรือช่องว่าง) กายวิญญัติ (การสื่อความหมายด้วยกาย) วจีวิญญัติ (การสื่อความหมายด้วยวาจา) วิการรูป ๓ คือ ลหุตา (ความเบา) มุทุตา (ความอ่อนนุ่ม) กัมมัญญตา (ความควรแก่งาน) และลักขณรูป ๔ คือ อุปจยะ (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น) สันตติ (ความสืบต่อ) ชรตา (ความทรุดโทรม) อนิจจตา (ความแปรสลาย)

จ. อสังขตธาตุ คือ นิพพาน

คัมภีร์อภิธรรมชั้นหลัง85 ประสงค์จะให้เข้าใจง่ายและละเอียดยิ่งขึ้น ได้จัดแบ่งธรรมารมณ์ คือ สิ่งที่เป็นความรู้ทางใจนี้ อีกแบบหนึ่ง โดยจำแนกเป็น ๖ อย่าง คือ

๑) ปสาท หรือประสาททั้ง ๕ คือ ความใสหรือความไวที่เป็นตัวสื่อรับรู้ของตา หู จมูก ลิ้น กาย

๒) สุขุมรูป ๑๖ (ที่กล่าวแล้วในข้อ ๔) ของชุดก่อน

๓) จิต

๔) เจตสิก (ตรงกับเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ในชุดก่อน)

๕) นิพพาน

๖) บัญญัติ คือ คำเรียกขาน ชื่อเรียก คำกำหนดที่วางไว้ เช่น ชื่อเรียกว่า พื้นดิน ภูเขา รถ คน ทิศเหนือ ทิศใต้ หลุม บ่อ เกาะ แหลม เป็นต้น ซึ่งตัวจริงของสิ่งที่บัญญัติเรียกนั้น เป็นของมีจริง ก็มี ไม่มีอยู่จริง ก็มี แต่จะมีหรือไม่มีก็ตาม คำบัญญัตินั้น ก็เป็นกาลวินิมุต คือไม่ขึ้นต่อกาล และไม่พินาศ เช่น ช่องว่างที่ลึกลงไปในแผ่นดินเราเรียกว่าหลุม ช่องเช่นนั้นมีที่ไหน เมื่อใด ก็เรียกว่าหลุม คงที่เสมอไป แต่หลุมต่างหากจากช่องในแผ่นดินหามีไม่ และหลุมเองทุกๆ หลุมย่อมตื้นเขิน ย่อมพัง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นอื่นได้ หรือ เช่น สิ่งที่เรียกว่าสัญญา ย่อมเกิดดับเสื่อมสลายไป แต่บัญญัติว่าสัญญาหาเสื่อมสลายไม่ เพราะสิ่งที่มีภาวะเช่นนั้นเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด ก็เรียกว่าสัญญาเสมอไป (ถ้าได้ตกลงไว้อย่างนั้น) หรือเช่น สิ่งที่เป็นร่างกายย่อมทรุดโทรมแตกสลายได้ แต่บัญญัติว่ากายย่อมคงที่ ของอย่างนั้น เกิดที่ไหนพบที่ไหน ก็เรียกอย่างนั้นตามบัญญัติ ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องบัญญัตินี้ อาจงงหรือสับสน เมื่อได้ฟังคำว่า เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง เป็นต้น โดยจับไม่ถูกว่าเนื้อตัวของเวทนาและสัญญาไม่เที่ยง หรือบัญญัติของเวทนาและสัญญาไม่เที่ยง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |