ไปยังหน้า : |
เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง
มีรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ซึ่งควรทราบไว้เป็นความรู้ประกอบเบื้องต้น ดังนี้
๑. รูป ตามแนวอภิธรรมแบ่งรูปเป็น ๒๘ อย่าง คือ
๑) มหาภูตรูป ๔ (เรียกง่าย ๆ ว่า ธาตุ ๔) คือ ปฐวีธาตุ (สภาพที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่) อาโปธาตุ (สภาพที่ดึงดูดซาบซึม) เตโชธาตุ (สภาพที่แผ่ความร้อน) วาโยธาตุ (สภาพที่สั่นไหว)
๒) อุปาทายรูป (รูปอาศัยหรือรูปที่สืบเนื่องมาจากมหาภูตรูป) ๒๔ คือ ประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา และกาย) อารมณ์ ๔ คือ รูป เสียง กลิ่น รส (รูปะ สัททะ คันธะ รสะ; โผฏฐัพพะ ไม่นับ เพราะตรงกันกับ ปฐวี เตโช และวาโย) ความเป็นหญิง (อิตถินทรีย์) ความเป็นชาย (ปุริสินทรีย์) ที่ตั้งของจิต (หทัยวัตถุ) การแสดงให้รู้ความหมายด้วยกาย (กายวิญญัติ) การแสดงให้รู้ความหมายด้วยวาจา (วจีวิญญัติ) ชีวิตินทรีย์ ช่องว่าง (อากาศ) ความเบาของรูป (รูปสฺส ลหุตา) ความอ่อนหยุ่นของรูป (รูปสฺส มุทุตา) ภาวะที่ควรแก่การงานของรูป (รูปสฺส กมฺมญฺตา) ความเจริญหรือขยายตัวของรูป (รูปสฺส อุปจย) การสืบต่อของรูป (รูปสฺส สนฺตติ) ความเสื่อมตัว (ชรตา) ความสลายตัว (อนิจฺจตา) และอาหาร (หมายถึง โอชา); พึงสังเกตว่า คำว่า “หทัยวัตถุ” ซึ่งแปลกันว่าหัวใจ และถือว่าเป็นที่ทำงานของจิตนั้น เป็นมติในคัมภีร์รุ่นหลัง ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก
๒. เวทนา แบ่งเป็น ๓ คือ สุข (ทางกายหรือทางใจก็ตาม) ทุกข์ (ทางกายหรือทางใจก็ตาม) อทุกขมสุข (ไม่ทุกข์ไม่สุข คือ เฉยๆ บางทีเรียกว่า อุเบกขา); อีกอย่างหนึ่ง แบ่งเป็น ๕ คือ สุข (ทางกาย) ทุกข์ (ทางกาย) โสมนัส(ดีใจ) โทมนัส (เสียใจ) อุเบกขา (เฉยๆ); แบ่งตามทางที่เกิดเป็น ๖ คือ เวทนาเกิดจากสัมผัสทางจักขุ ทางโสตะ ทางฆานะ ทางชิวหา ทางกาย และทางมโน
๓. สัญญา แบ่งเป็น ๖ ตามทางแห่งการรับรู้ คือ
๑. รูปสัญญา ความหมายรู้รูป เช่นว่า ดำ แดง เขียว ขาว เป็นต้น
๒. สัททสัญญา ความหมายรู้เสียง เช่นว่า ดัง เบา ทุ้ม แหลม เป็นต้น
๓. คันธสัญญา ความหมายรู้กลิ่น เช่นว่า หอม เหม็น เป็นต้น
๔. รสสัญญา ความหมายรู้รส เช่นว่า หวาน เปรี้ยว ขม เค็ม เป็นต้น
๕. โผฏฐัพพสัญญา ความหมายรู้สัมผัสทางกาย เช่นว่า อ่อน แข็ง หยาบ ละเอียด ร้อน เย็น เป็นต้น
๖. ธัมมสัญญา ความหมายรู้อารมณ์ทางใจ เช่นว่า งาม น่าเกลียด เที่ยง ไม่เที่ยง เป็นต้น