| |

มัชเฌนธรรมเทศนา คือ การแสดงความจริงเป็นกลาง พอดี ตามสภาวะของธรรมชาติ ไม่เฉ ไม่เอียง ไม่สุดโต่งเลยเถิดไป เช่น ไม่กลายเป็นอัตถิกวาท (ลัทธิว่าทุกอย่างมีจริง) หรือ นัตถิกวาท (ลัทธิว่าไม่มีอะไรจริงเลย) ไม่เป็นสัสสตวาท (ลัทธิว่าเที่ยงแท้) หรืออุจเฉทวาท (ลัทธิว่าขาดสูญ) เป็นต้น

พระพุทธเจ้า ตรัสรู้อะไร? (ว่าตามธรรม)
ปฏิจจสมุปบาท: กฏธรรมชาติสากลแห่งปัจจยาการ

ภายใต้ร่มมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว ยังคงประทับที่นั่น เสวยวิมุตติสุข ๑ สัปดาห์ จากนั้นเสด็จออกจากสมาธิ แล้วทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ที่ได้ตรัสรู้ตลอดเวลา ๓ ยามแห่งราตรี โดย

ในยามที่ ๑ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนั้น แบบอนุโลมคือตามลำดับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ในการเกิดขึ้นของสภาวธรรมที่เรียกว่าทุกข์ จบแล้ว มีพุทธอุทาน*1 ใจความว่า เมื่อธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งชัดเจน ก็สิ้นสงสัย เพราะรู้เข้าใจธรรมพร้อมทั้งเหตุปัจจัย นี่คือปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายกระบวนการก่อเกิดทุกข์ ที่เรียกว่าสมุทัย

ในยามที่ ๒ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนั้น แบบปฏิโลม คือย้อนลำดับ ตามกระบวนการดับไปของสภาวะที่เรียกว่าทุกข์นั้น จบแล้ว มีพุทธอุทานใจความว่า เมื่อธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งชัดเจน ก็สิ้นสงสัย เพราะได้รู้แจ้งสภาวะที่สิ้นเหตุปัจจัย นี่คือปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายกระบวนการดับสลายทุกข์ ที่เรียกว่านิโรธ

ในยามที่ ๓ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนั้น ทั้งอนุโลม-ปฏิโลม คือทั้งกระบวนการเกิดขึ้นและกระบวนการดับสลายแห่งเหตุปัจจัยในการก่อเกิดทุกข์นั้น จบแล้ว มีพุทธอุทานใจความว่า เมื่อธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งชัดเจน ก็ขจัดบำราศมารเสนา ดังดวงสุริยาสว่างฟ้าเจิดจ้าอำไพ

รวมความว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท หรือเมื่อตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นพระพุทธเจ้า

ปฏิจจสมุปบาท” แปลว่า การอาศัยกันๆ เกิดขึ้น คือการที่อะไรๆ ปรากฏมีขึ้นโดยความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันมา จึงเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจยาการ” คืออาการที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยหรืออาการของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |