ไปยังหน้า : |
ผู้ต้องการสืบความในบาลีเกี่ยวกับสังสารวัฏ หรือการเวียนว่ายตายเกิด แบบที่เป็นไปในปัจจุบัน ภายในชาตินี้ อาจศึกษาพระสูตรตอนหนึ่งต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง
“‘ความสำคัญตนที่เป็นกิเลสหมักหมม ย่อมไม่เป็นไปแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรม ๔ ประการ (คือ ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ), เมื่อไม่มีความสำคัญตนที่เป็นกิเลสหมักหมมเป็นไป ย่อมเรียกได้ว่า เป็นมุนีผู้สงบ’
“ข้อความที่กล่าวไว้ดังนี้นั้น เราได้กล่าวโดยอาศัยเหตุผลอะไร? (ชี้แจงว่า) ความสำคัญตนย่อมมีว่า เราเป็นบ้าง เราไม่เป็นบ้าง เราจักเป็นบ้าง เราจักไม่เป็นบ้าง เราจักเป็นผู้มีรูปบ้าง เราจักเป็นผู้ไม่มีรูปบ้าง เราจักเป็นผู้มีสัญญาบ้าง เราจักเป็นผู้ไม่มีสัญญาบ้าง เราจักเป็นเนวสัญญานาสัญญีบ้าง; ดูกรภิกษุ ความสำคัญตน เป็นโรคร้าย เป็นฝีร้าย เป็นศรร้าย, เพราะก้าวล่วงความสำคัญตน (ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้) ทั้งหมดได้ จึงจะเรียกว่าเป็นมุนีผู้สงบ;
“ดูกรภิกษุ มุนีผู้สงบ ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่วุ่นใจ ย่อมไม่ใฝ่ทะยาน, สิ่งอันเป็นเหตุที่เขาจะเกิด ย่อมไม่มี, เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร, เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร, เมื่อไม่ตาย จักวุ่นใจได้อย่างไร, เมื่อไม่วุ่นใจ จักใฝ่ทะยานได้อย่างไร;
“ความสำคัญตนที่เป็นกิเลสหมักหมม ย่อมไม่เป็นไปแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรม ๔ ประการ, เมื่อไม่มีความสำคัญตนที่เป็นกิเลสหมักหมมเป็นไป ก็เรียกได้ว่าเป็นมุนีผู้สงบ’ ข้อความที่เรากล่าวไว้ดังนี้ เราได้กล่าวโดยอาศัยเหตุผลดังว่ามานี้; ดูกรภิกษุ เธอจงทรงจำการจำแนกธาตุ ๖ โดยย่อ แห่งเรา ดังนี้”
บาลีนี้มาใน ม.อุ.14/693/446; นอกนี้ พึงดูประกอบที่ ม.อุ.14/643/415; สํ.ข.17/479/283; สํ.สฬ.18/21/17; ขุ.สุ.25/422/519; ขุ.ม.29/863/532 (แก่=เสื่อมหรือสูญเสีย); ขุ.เถร.26/316/307; ขุ.ชา.27/1811/354 เป็นต้น
ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านจำแนกกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทออกเป็นหลายแบบ ตามประเภทแห่งจิตที่เป็นอกุศล กุศล อัพยากฤต (วิบาก และกิริยา) และซอยละเอียดออกไปอีกตามระดับจิตที่เป็น กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตระ (อภิ.วิ.35/255-430/181-257) องค์ธรรมที่เป็นปัจจัยในกระบวนธรรมเหล่านั้นบางอย่างเปลี่ยนแปลกออกไปตามประเภทของจิตด้วย ไม่เป็นแบบเดียวเหมือนอย่างที่แสดงไว้ในพระสูตร เช่น ในกุศลจิตบางอย่าง กระบวนธรรมอาจเริ่มต้นด้วยสังขารทีเดียว ไม่มีอวิชชา หรืออาจเริ่มด้วยกุศลมูลแทนอวิชชา เป็นต้น
โดยเฉพาะที่น่าสังเกตยิ่ง คือ ตัณหามีเฉพาะในอกุศลจิตอย่างเดียวเท่านั้น ในจิตประเภทอื่นๆ ตัณหาถูกแทนด้วย ปสาทะ หรือไม่ก็ข้ามไปเสียทีเดียว ทั้งนี้เพราะอภิธรรมศึกษาจิตซอยเป็นแต่ละขณะๆ จึงวิเคราะห์องค์ธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยในกระบวนธรรมเฉพาะขณะนั้นๆ อวิชชาและตัณหา เป็นต้น ที่ถูกข่มถูกเบียนในขณะนั้นๆ จะไม่ถูกแสดงไว้ตามชื่อของมัน แต่แสดงในรูปองค์ธรรมอื่นที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาแทนที่ หรือไม่ก็ข้ามไปทีเดียว
นอกจากนั้น บาลีในพระอภิธรรมปิฎกยังได้แสดงองค์ธรรมทั้งหลายในลักษณะที่สัมปยุต (ประกอบร่วม) และที่เป็นปัจจัยในทางกลับกัน (เช่น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารก็เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ฯลฯ) ไว้ด้วย
ในที่นี้ จะนำเอาเฉพาะกระบวนธรรมแบบหลักใหญ่มาแสดงไว้ เพื่อประกอบการพิจารณา