| |
๒. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ  |   |  

วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ หรือกระจายเนื้อหา เป็นการคิดที่มุ่งให้มอง และให้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเองอีกแบบหนึ่ง

ในทางธรรม ท่านมักใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสาร หรือความไม่เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ให้หายยึดติดถือมั่นในสมมติบัญญัติ โดยเฉพาะการพิจารณาเห็นสัตว์บุคคล เป็นเพียงการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ แต่ละอย่างก็เกิดขึ้นจากส่วนประกอบย่อยต่อไปอีก การพิจารณาเช่นนี้ ช่วยให้มองเห็นความเป็นอนัตตา

แต่การที่จะมองเห็นสภาวะเช่นนี้ได้ชัดเจน มักต้องอาศัยวิธีคิดแบบที่ ๑ และหรือแบบที่ ๓ ในข้อต่อไปเข้าร่วม โดยพิจารณาไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ เมื่อแยกแยะส่วนประกอบออก ก็เห็นภาวะที่องค์ประกอบเหล่านั้นอาศัยกัน และขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นตัวของมันเองแท้จริง ยิ่งกว่านั้น องค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นไปตามกฎธรรมดา คือ มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน

ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป และต้องขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ ถูกเหตุปัจจัยทั้งหลายบีบคั้นขัดแย้งนั้น ถ้าไม่มองในแง่สืบสาวเหตุปัจจัยตามวิธีที่ ๑ ซึ่งอาจจะยากสักหน่อย ก็มองได้ในแง่ลักษณะทั่วไปที่เป็นธรรมดาสามัญของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งอยู่ในขอบเขตของวิธีคิดแบบที่ ๓ ในบาลีท่านมักกล่าวถึงวิธีคิดแบบที่ ๒ นี้ รวมพร้อมไปด้วยกันกับแบบที่ ๓

แต่ในชั้นอรรถกถา ซึ่งเป็นแนวของอภิธรรมสมัยหลัง นิยมจัดวิธีคิดแบบที่ ๒ นี้เป็นขั้นหนึ่งต่างหาก และถือเป็น วิภัชชวิธี อย่างหนึ่ง1308 นอกจากนั้นยังนิยมจำแนกขั้นพื้นฐาน โดยถือนามรูปเป็นหลัก ยิ่งกว่าจะจำแนกเป็นขันธ์ ๕ ทันที

ความจริง วิธีคิดแบบนี้ มิใช่มีแต่การจำแนกแยกแยะ หรือแจกแจงออกไปอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีการจัดหมวดหมู่ หรือจัดประเภทไปด้วยพร้อมกัน แต่ท่านเน้นในแง่การจำแนกแยกแยะ จึงเรียกว่า “วิภัชชะ” ถ้าจะเรียกอย่างสมัยใหม่ก็คงว่า วิธีคิดแบบวิเคราะห์


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |