ไปยังหน้า : |
ทิฏฐิ หรือเขียนลดรูปเป็น ทิฐิ แปลว่า ความเห็น หมายรวมถึง ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี ความเข้าใจตามนัยเหตุผล ข้อที่เข้ากับความเข้าใจของตน หลักการที่เห็นสม ข้อที่ถูกใจ ข้อที่เชิดชูเอาไว้ ความใฝ่นิยม หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ค่านิยม รวมไปถึงอุดมการณ์ แนวทัศนะในการมองโลกและชีวิต ที่เรียกกันว่า โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่างๆ ตลอดจนทัศนคติพื้นฐาน ที่สืบเนื่องจากความเห็นความเข้าใจ และความใฝ่นิยมเหล่านั้น1423
ถ้าจะจัดเข้าเป็นพวกๆ ทิฏฐิ ก็คงมี ๒ ระดับ คือ ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่า ว่าดี ไม่ดี ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น เป็นต้น อย่างหนึ่ง ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับความจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เพระเหตุไร เป็นต้น อย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้ในเรื่องสัมมาทิฏฐิ ๒ ประเภท
ทิฏฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจ ความใฝ่นิยมยึดถือต่างๆ นั้น มีอิทธิพลครอบงำ และมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตและสังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก
ในกรรมบถ ท่านจัดทิฏฐิเข้าเป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สำคัญ มีผลมากมายร้ายแรงที่สุด ยิ่งกว่ากายกรรม และวจีกรรม1424เพราะเป็นตัวบันดาลกายกรรมและวจีกรรมอยู่เบื้องหลังอีกชั้นหนึ่ง สามารถนำชีวิต สังคม หรือมนุษยชาติทั้งหมดไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรืองหลุดพ้น หรือนำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศก็ได้
ดังจะมองเห็นได้ในชีวิตของบุคคล ทิฏฐิเป็นตัวชักจูง และกำหนดวิถีชีวิต ทั้งในด้านรับเข้า และด้านแสดงออก กล่าวคือ จะมองเห็นโลกและชีวิตเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติต่อโลกและชีวิตนั้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่จะแปลความหมายของประสบการณ์ที่รับรู้เข้ามาใหม่อย่างไร จะตีค่า จะตัดสินวินิจฉัยว่าอย่างไร จะหันไปหาหรือเลือกรับสิ่งใด ส่วนใด ในแง่ใด จะเห็นด้วยหรือไม่ จะอยู่ฝ่ายใด แล้วชักนำแนวความคิด การพูดการกระทำที่จะสนองตอบโต้ แสดงปฏิกิริยาออกไปว่าจะเอาอย่างไร พูดหรือทำอย่างไร กับบุคคล สิ่ง สภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์นั้นๆ พร้อมทั้งสร้างเหตุผลประกอบสำหรับการที่จะพูดจะทำเช่นนั้น
กล่าวสั้นๆ ด้วยศัพท์ธรรมว่า ทิฏฐิปรุงแต่งชักนำองค์ธรรมต่างๆ ตั้งแต่สังกัปปะ คือความคิด หรือความดำริเป็นต้นไป ให้เป็นมิจฉา หรือเป็นสัมมา ตามทิฏฐินั้นๆ
ในทางปฏิบัติ ความสำคัญของทิฏฐิมองเห็นได้ไม่ยาก เช่น เมื่อคนชอบความมั่งมี เห็นว่าความพรั่งพร้อมทางวัตถุส่วนตัวเป็นจุดหมายของชีวิต เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของบุคคล และเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ เขาย่อมพยายามดิ้นรนขวนขวายเพื่อแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบกิจการงาน ก็ทำเพื่อจุดหมายนี้ และเมื่อมองดูคนอื่น เขาก็จะวัดจะตีค่าจะให้เกียรติคนนั้นๆ หรือไม่ โดยถือเอาความมั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นเกณฑ์
ยิ่งถ้าเขาขาดความใฝ่สุจริตด้วยแล้ว เขาก็จะแสวงหาความมั่งคั่ง โดยไม่เลือกวิธีว่าเป็นไปโดยสุจริตชอบธรรมหรือไม่ และจะมองเห็นคนประพฤติสุจริตที่ยากไร้ว่า เป็นคนเขลาครึทึ่มทื่อ หรือไร้เกียรติ
ถ้าเด็กเห็นว่า การมีอำนาจ เป็นความเก่ง เป็นความดี เขาก็จะมีท่าทีที่น้อมไปในทางแสดงอำนาจ ทำตัวยิ่งใหญ่ ชอบครอบงำข่มเหงรังแกผู้อื่น