| |
มรรค ในฐานะหลักปฏิบัติที่เนื่องด้วยสังคม  |   |  

“ดูกรอานนท์ ความมีกัลยาณมิตร มีกัลยาณสหาย ชอบคบหากัลยาณชนนี้ เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตร1084...พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักยังอริยอัษฎางคิกมรรคให้เกิดมี เขาจักกระทำได้มากซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค” 1085

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรคแก่ภิกษุ ฉันนั้น”1086

พุทธพจน์นี้ แสดงถึงการยอมรับความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ในฐานะสภาพแวดล้อมทางสังคม ว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะชักนำและส่งเสริมให้เกิดมีการประพฤติปฏิบัติหลักธรรมในพระพุทธศาสนา แสดงให้เห็นว่า ระบบการดำเนินชีวิต ระบบจริยธรรม หรือระบบการประพฤติปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา เนื่องด้วยสังคม ไม่แยกต่างหากจากสังคม

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ (การทำในใจโดยแยบคาย หรือการรู้จักคิดพิจารณาตามสภาวะและเหตุผล) ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรคแก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือจักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค”1087

พุทธพจน์นี้ ให้ความคิดว่า แม้ว่าปัจจัยทางสังคมจะมีความสำคัญมาก แต่ก็ต้องไม่มองข้ามความสำคัญของปัจจัยภายในตัวบุคคล ปัจจัยที่ดีงาม ทั้งทางสังคม และภายในตัวบุคคล ต่างก็สามารถเป็นจุดเริ่ม ซึ่งทำให้เกิดความประพฤติปฏิบัติ และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้ ความจริง ทั้งสองอย่างนั่นแหละ ย่อมช่วยหนุนและเสริมซึ่งกันและกัน

หลักการนี้แสดงว่า การปฏิบัติชอบ หรือชีวิตที่ดีงาม เกิดจากการปรุงผสมผสานปัจจัยทางสังคมและปัจจัยภายในตัวบุคคลเข้าด้วยกัน และการก้าวหน้าไปในมรรคาแห่งความดีงามสู่จุดหมายแห่งชีวิต จะเป็นไปได้อย่างสัมฤทธิ์ผลมากที่สุด หากได้อาศัยปัจจัยสองอย่างนี้คอยอุดหนุนค้ำชูกันอยู่เรื่อยๆ ไป

แต่พึงสังเกตว่า มีข้อเน้นพิเศษสำหรับปัจจัยทางสังคม คือ ความมี กัลยาณมิตร ซึ่งพิเศษกว่าปัจจัยภายในตัวบุคคลที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ กล่าวคือ ท่านยกให้ปัจจัยทางสังคมนั้น มีค่าเท่ากับการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าพรหมจรรย์ ทั้งหมดทีเดียว ทั้งนี้เพราะว่า สำหรับมนุษย์ทั่วไปโดยส่วนใหญ่ การปฏิบัติชอบ หรือชีวิตที่ดีงาม หรือมรรคาแห่งอารยชนนั้น จะตั้งต้นขึ้นได้ ก็ด้วยอาศัยปัจจัยทางสังคม

ปัจจัยดีงามทางสังคมนั้น เป็นทั้งเครื่องจุดชนวนความรู้จักคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการในเบื้องต้น และเป็นเครื่องประคับประคองคอยเสริมเติมและกระตุ้นโยนิโสมนสิการนั้นในระหว่างก้าวเดินคืบหน้าต่อๆ ไป


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |