| |
ฉ. จำแนกโดยทางเลือก หรือความเป็นไปได้อย่างอื่น  |   |  

ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุผลสำเร็จ หรือเข้าถึงเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี ในการพิจารณาหาความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้น และความเป็นไปของสิ่ง สภาพ หรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี ผู้ที่คิดค้นพิจารณาพึงตระหนักว่า

ก) หนทาง วิธีการ หรือความเป็นไปได้ อาจมีได้หลายอย่าง

ข) ในบรรดาหนทาง วิธีการ หรือความเป็นไปได้หลายอย่างนั้น บางอย่างอาจดีกว่า ได้ผลกว่า หรือตรงแท้กว่าอย่างอื่น

ค) ในบรรดาทางเลือกหลายอย่างนั้น บางอย่าง หรืออย่างหนึ่ง อาจเหมาะสม หรือได้ผลดีสำหรับตนสำหรับต่างคน หรือสำหรับกรณีนั้น มากกว่าอย่างอื่น

ง) ทางเลือก หรือความเป็นไปได้ อาจมีเพียงอย่างเดียว หรือหลายอย่าง แต่เป็นอย่างอื่น คือไม่ใช่ทางเลือกหรือความเป็นไปได้อย่างที่ตนกำลังปฏิบัติ หรือกำลังเข้าใจอยู่ในขณะนั้น

ความตระหนักเช่นนี้ มีผลดีหลายประการ เช่น ทำให้ไม่อื้อตื้อติดตันวนเวียนอยู่อย่างหาทางออกไม่ได้ ในวิธีปฏิบัติหรือความคิดที่ไม่สำเร็จผล ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมกับตน ทำให้ไม่ท้อแท้ ถดถอย หรืออับจน แล้วหยุดเลิกความเพียรเสีย ในเมื่อทำ หรือคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้หลายอย่างแล้วไม่สำเร็จ

โดยเฉพาะ ข้อที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้สามารถคิดหา และค้นพบหนทาง วิธีการ หรือความเป็นไปได้ที่ถูกต้อง เหมาะสม ตรงแท้ เป็นจริง หรือได้ผลดีที่สุด

วิธีคิดแบบนี้ จะเห็นตัวอย่างจากพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทดลองบำเพ็ญทุกรกิริยา จำพวกตบะ ที่เป็นอุดมการณ์ของยุคสมัย อย่างสุดกำลัง และสุดหนทางที่จะมีบุคคลผู้ใดปฏิบัติได้ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ไม่สำเร็จผล แทนที่จะทรงติดตันและสิ้นหวัง ทรงเห็นว่า ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ที่จะบรรลุจุดมุ่งหมาย แล้วทรงดำริต่อไป


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |