| |
ก้าวสู่ความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป

ก่อนจะกล่าวถึงความสุขที่ประณีต เห็นควรแสดงความหมายทั่วไปของความสุข และความทุกข์ ชนิดที่มีเป็นพื้นอยู่ในจิตใจ ซึ่งสัมพันธ์กับความสุขอย่างอื่นๆ ทั้งหมด กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง มีปริพาชกถามพระสารีบุตรว่า อะไรคือความสุข อะไรคือความทุกข์ ในธรรมวินัยนี้ พระสารีบุตรได้ตอบว่า

“ความไม่ยินดี นั่นแลท่าน เป็นทุกข์ ในธรรมวินัยนี้, ความยินดี จึงเป็นสุข;

“เมื่อมีความไม่ยินดี (อนภิรดี) ก็เป็นอันหวังทุกข์นี้ได้ คือ แม้เดินอยู่ ก็ไม่ประสบความสุขความสำราญ แม้ยืนอยู่...แม้นั่งอยู่...แม้นอนอยู่...แม้อยู่ในบ้าน...แม้อยู่ในป่า...แม้อยู่ที่โคนไม้...แม้อยู่ในเรือนว่าง...แม้อยู่ในที่แจ้ง...แม้อยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุ ก็ไม่ประสบความสุขความสำราญ, เมื่อมีความไม่ยินดี ย่อมเป็นอันหวังทุกข์นี้ได้,

“(แต่) เมื่อมีความยินดี (อภิรดี) ก็เป็นอันหวังความสุขนี้ได้ คือ แม้เดินอยู่ ก็ประสบความสุขความสำราญ แม้ยืนอยู่...แม้นั่งอยู่...แม้นอนอยู่...แม้อยู่ในบ้าน...แม้อยู่ในป่า...แม้อยู่ที่โคนไม้...แม้อยู่ในเรือนว่าง...แม้อยู่ในที่แจ้ง...แม้อยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุ ก็ย่อมประสบความสุขความสำราญ, เมื่อมีความยินดี ก็เป็นอันหวังความสุขนี้ได้”2124

จากนี้ พึงทราบความสุขประณีต ในระดับตั้งแต่ฌานสุขขึ้นไป ว่ามีเค้าความรู้สึกอย่างไร ดังที่ท่านแสดงไว้โดยอุปมา สรุปมาพิจารณากันดูต่อไปนี้

ก้าวสุดท้ายก่อนจะบรรลุฌาน ก็คือการละ นิวรณ์ ๕ (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา) ได้ ผู้ละนิวรณ์ได้แล้ว จะมีความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งเบาสบายและอิ่มใจเกิดขึ้น เป็นพื้นนำของการจะได้ความสุขในฌานต่อไป ดังที่ท่านอุปมาไว้ ๕ ประการ

๑. เปรียบเหมือนการเกิดความปราโมทย์ มีโสมนัสชื่นฉ่ำใจ ของคนที่เคยกู้ยืมเงินคนอื่นมาประกอบการงานแล้ว ประสบความสำเร็จ ใช้หนี้สินได้หมดแล้ว และยังมีเงินเหลือไว้เลี้ยงครอบครัว

๒. เปรียบเหมือนการเกิดปราโมทย์ มีโสมนัสชื่นฉ่ำใจ ของคนที่ฟื้นหายจากความเจ็บป่วยเป็นไข้หนักกลับกินข้าวกินปลาได้ มีกำลังกายแข็งแรง

๓. เปรียบเหมือนการเกิดปราโมทย์ มีโสมนัสชุ่มชื่นใจ ของคนที่พ้นจากการถูกจองจำ ไปได้โดยสวัสดี ไม่มีภัย และไม่ต้องเสียทรัพย์สิน

๔. เปรียบเหมือนการเกิดปราโมทย์ มีโสมนัสชุ่มชื่นใจ ของคนที่หลุดพ้นจากความเป็นทาส อาศัยตนเองได้ ไม่ขึ้นกับคนอื่น เป็นไทแก่ตัว จะไปไหนก็ไปได้ตามใจปรารถนา

๕. เปรียบเหมือนการเกิดปราโมทย์ มีโสมนัสชุ่มชื่นใจ ของคนมั่งมีทรัพย์ ผู้เดินทางข้ามพ้นหนทางไกลกันดาร ที่หาอาหารได้ยาก และเต็มไปด้วยภยันตราย มาถึงถิ่นบ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี

ต่อแต่นั้น ก็จะได้ประสบความสุขใน ฌาน ๔ ที่ประณีตดียิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีกตามลำดับ กล่าวคือ

ใน ฌานที่ ๑ ซึ่งประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ผู้ปฏิบัติ ทำกายของตนให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซ่านด้วยปีติและความสุข ไม่มีส่วนใดของกายทั่วทั้งตัว ที่ปีติและความสุขจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนแป้งสีกายที่เขาเทใส่ภาชนะสำริด เอาน้ำพรมปล่อยไว้ พอถึงเวลาเย็น ก็มียางซึมไปจับติดถึงกันทั่วทั้งหมด ไม่กระจายออก


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |