| |
(๑) ฐาน ปทัฏฐาน และที่หมายของสมาธิ

กล่าวได้ว่า ศีลเป็นฐานของสมาธิ คือเป็นพื้นฐานรองรับให้การปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้เกิดสมาธิ เป็นไปได้ เช่นเดียวกับที่เป็นพื้นฐานรองรับการปฏิบัติธรรมทั้งหลายโดยทั่วไป ในฐานะเป็นลำดับต้นแห่งไตรสิกขา ดังพุทธพจน์ที่พระพุทธโฆสาจารย์นำมาตั้งเป็นกระทู้ สำหรับเขียนเรียบเรียงเนื้อหาของคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ทั้งหมดว่า

“ภิกษุเป็นคนมีปรีชา ตั้งอยู่ในศีลแล้ว อบรมจิตและปัญญา เธอมีความเพียร มีปัญญาครองตน พึงสางรกชัฏนี้ได้” 1672

พุทธพจน์ที่อื่นๆ ตรัสแสดงว่า ธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเรียกเป็นมรรค เป็นโพชฌงค์ เป็นสติปัฏฐาน เป็นสัมมัปปธานก็ตาม คนตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงจะปฏิบัติได้ผล เปรียบเหมือนคนจะทำงานที่ใช้กำลัง ก็ต้องอาศัยพื้นแผ่นดินเป็นฐาน หรือสัตว์ทั้งหลายทั่วไป จะยืนเดินนั่งนอน ก็ล้วนต้องอาศัยพื้นแผ่นดินรองรับ 1673

ดังได้กล่าวแล้วว่า ศีลกลางๆ สำหรับคนทั่วไป หมายถึงความประพฤติสุจริต และการที่มิได้เบียดเบียนก่อความเสียหายเดือดร้อนแก่ใครๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายใจ และเสียความมั่นใจในตนเอง เป็นเสี้ยนหนามคอยทิ่มแทงระคาย หรือสะดุดสะกิดสะกัดขัดขวาง รบกวนไว้ ไม่ให้ใจเข้าสู่ความสงบเรียบสนิทได้

ส่วนศีลนอกเหนือจากนั้นไป ก็สุดแต่วินัยที่กำกับการดำเนินชีวิต แบบที่ตนเข้าสวมรับเอาไว้ เช่น พระภิกษุต้องปฏิบัติตามหลักศีลสังวรตามวินัยของสงฆ์ เป็นต้น

พ้นจากศีลขึ้นไป แรงหนุนสำคัญในการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นตัวเด่น ที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำบ่อยมาก ก็คือความไม่ประมาท ความมีกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ 1674


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |