ไปยังหน้า : |
ภายใต้ร่มมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว ยังคงประทับที่นั่น เสวยวิมุตติสุข ๑ สัปดาห์ จากนั้นเสด็จออกจากสมาธิ แล้วทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ที่ได้ตรัสรู้ตลอดเวลา ๓ ยามแห่งราตรี โดย
ในยามที่ ๑ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนั้น แบบอนุโลมคือตามลำดับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ในการเกิดขึ้นของสภาวธรรมที่เรียกว่าทุกข์ จบแล้ว มีพุทธอุทาน*1 ใจความว่า เมื่อธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งชัดเจน ก็สิ้นสงสัย เพราะรู้เข้าใจธรรมพร้อมทั้งเหตุปัจจัย นี่คือปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายกระบวนการก่อเกิดทุกข์ ที่เรียกว่าสมุทัย
ในยามที่ ๒ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนั้น แบบปฏิโลม คือย้อนลำดับ ตามกระบวนการดับไปของสภาวะที่เรียกว่าทุกข์นั้น จบแล้ว มีพุทธอุทานใจความว่า เมื่อธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งชัดเจน ก็สิ้นสงสัย เพราะได้รู้แจ้งสภาวะที่สิ้นเหตุปัจจัย นี่คือปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายกระบวนการดับสลายทุกข์ ที่เรียกว่านิโรธ
ในยามที่ ๓ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนั้น ทั้งอนุโลม-ปฏิโลม คือทั้งกระบวนการเกิดขึ้นและกระบวนการดับสลายแห่งเหตุปัจจัยในการก่อเกิดทุกข์นั้น จบแล้ว มีพุทธอุทานใจความว่า เมื่อธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งชัดเจน ก็ขจัดบำราศมารเสนา ดังดวงสุริยาสว่างฟ้าเจิดจ้าอำไพ
รวมความว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท หรือเมื่อตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นพระพุทธเจ้า
“ปฏิจจสมุปบาท” แปลว่า การอาศัยกันๆ เกิดขึ้น คือการที่อะไรๆ ปรากฏมีขึ้นโดยความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันมา จึงเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจยาการ” คืออาการที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยหรืออาการของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย