ไปยังหน้า : |
เนื่องด้วยคำสอนในพระพุทธศาสนาเน้นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และการลงมือทำให้รู้เห็นประจักษ์ บังเกิดผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิต หรือเน้นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ และการนำสิ่งนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์588 ไม่สนับสนุนการคิดวาดภาพและการถกเถียงหาเหตุผลในสิ่งที่พึงรู้เห็นได้ด้วยการลงมือทำนั้น ให้เกินเพียงพอแก่ความเข้าใจที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการลงมือปฏิบัติ
ดังนั้น ในการพิจารณาเรื่องนิพพาน การศึกษาเกี่ยวกับภาวะของบุคคลผู้บรรลุนิพพาน รวมทั้งประโยชน์ที่เป็นผลของการบรรลุนิพพาน ซึ่งเห็นได้ที่ชีวิต หรือบุคลิกภาพของผู้บรรลุ จึงน่าจะมีคุณค่าในทางปฏิบัติ และสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา มากกว่าการอภิปรายเรื่องภาวะของนิพพานโดยตรง
ภาวะของผู้บรรลุนิพพาน อาจศึกษาได้จากคำเรียกชื่อ และคำแสดงคุณลักษณะของผู้บรรลุนิพพานนั่นเอง ซึ่งมีทั้งความหมายแง่บวก และแง่ลบ
คำเรียกจำนวนมาก เป็นคำแสดงความยกย่องนับถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติดีงาม บริสุทธิ์ ประเสริฐ หรือได้บรรลุจุดหมายสูงสุดแล้ว เช่น อรหันต์ (ผู้ควร หรือผู้ไกลกิเลส) ขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะแล้ว) อเสขะ (ผู้ไม่ต้องศึกษา, ผู้จบการศึกษาแล้ว) ปริกขีณภวสังโยชน์ (ผู้หมดสังโยชน์ที่เป็นเครื่องผูกมัดไว้ในภพ) วุสิตวันต์ หรือ วุสิตพรหมจรรย์ (ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว) กตกรณีย์ (ผู้ทำกิจที่ต้องทำเสร็จแล้ว) โอหิตภาระ (ผู้ปลงภาระแล้ว) อนุปปัตตสทัตถ์ (ผู้เข้าถึงประโยชน์ตนแล้ว) สัมมทัญญาวิมุตต์ (ผู้หลุดพ้นเพราะรู้ถูกถ้วน) อุดมบุรุษ (คนสูงสุด, คนเยี่ยมยอด) มหาบุรุษ (คนยิ่งใหญ่ด้วยคุณธรรม, บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน และมีอำนาจเหนือจิตของตน) สัมปันนกุศล (ผู้มีกุศลสมบูรณ์) บรมกุศล (ผู้มีกุศลธรรมอย่างยิ่ง)