| |
รู้ทันว่าอยู่ในระบบเงื่อนไข ก็ใช้มันให้เต็มคุณค่า  |   |  

มีคำถามที่เป็นเรื่องของยุคสมัยว่า ฉันทะในการทำงานเวลานี้ จะเป็นอย่างไร?

ฉันทะ” แปลง่ายๆ ก็คือชอบนี่เอง ก็มีผู้เล่าว่า มีคนมาสมัครงาน เขาสัมภาษณ์ว่า คุณชอบงานนี้ไหม?

คำว่า “ชอบ” นี้กำกวม คนหนึ่งตอบว่าชอบ แต่หมายความว่า ชอบที่เงินเดือนดี จะได้เงินมากๆ ทำงานสบายไม่ต้องหนัก ไม่ต้องเหนื่อย งานก็ง่าย สะดวก ทั้งมีเวลาพักเยอะ แล้วก็เงินก็เยอะ นี้ชอบอย่างหนึ่ง

ทีนี้ อีกคนหนึ่งตอบว่า “ชอบ” ชอบอย่างไร? ก็ชอบที่งานนี้ถูกกับความถนัดความสามารถ ทำแล้วจะมีประโยชน์ ช่วยประเทศชาติ ดีแก่สังคมอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นงานที่ดีงามสร้างสรรค์อย่างนั้นอย่างนี้ ชอบเพราะว่าอย่างนี้

เป็นอันว่า คำว่า “ชอบ” ในทีนี้เป็นคำกำกวม ก้ำกึ่งระหว่างตัณหา กับฉันทะ ถ้าจะให้ชัด ก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจในคำว่า “ฉันทะ” ให้ชัดขึ้นในสังคมไทย

ถ้าถามว่า งานนี้คุณมีฉันทะไหม? ก็หมายความว่า มันถูกกับความถนัดความสามารถ เรามองเห็นคุณค่าประโยชน์ของมัน ต้องมองด้วยปัญญา ไม่ใช่ชอบเพียงเพราะว่า มีเงินเดือนดี สบาย ขี้เกียจได้ พักผ่อนเยอะ อย่างนี้ก็อยู่แค่ความรู้สึกเห็นแก่ตัว นี่คือตัณหา

ถ้ามีฉันทะ ก็อย่างที่ว่า เราทำงานนี้ เรารักงานจริงๆ รักเพราะเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ว่า งานนี้เป็นการสร้างสรรค์สังคม แล้วก็พัฒนาประเทศชาติ

ถ้างานที่เราทำอยู่นั้น ไม่ชัดในเรื่องประโยชน์ทางสังคม หรือถ้าเรามองไม่เห็นคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติ แต่เราจำเป็นจะต้องทำ ก็สร้างฉันทะขึ้นมาในแง่ที่มองเห็นว่ามีคุณค่าในการพัฒนาตัวเรา มันจะทำให้เราได้พัฒนาชีวิตของเรา เพราะว่างานนั้นมีความหมายอย่างหนึ่งก็คือ เป็นแดนพัฒนาชีวิตของเรา

คุณค่าอย่างหนึ่งของงานนั้น ไม่ว่างานอะไร จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ก็คือจะทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง เช่น ยิ่งงานยาก เราก็ยิ่งได้พัฒนาตัวมาก คือได้ฝึกตน ได้พัฒนาสติปัญญาและความสามารถต่างๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าปลุกฉันทะได้ดีแล้ว คนมีความใฝ่ฝึก ใฝ่ศึกษา ตอนนี้แหละ เขาจะชอบแม้แต่สิ่งที่เคยไม่ชอบ ชอบแม้แต่งานที่ยาก ตามคติที่ว่า “ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก” คือ ยิ่งงานยาก เราก็ยิ่งได้พัฒนาตัวเองมาก กว่างานนั้นจะเสร็จ กว่างานนั้นจะเดินไปได้ดี เราก็ได้พัฒนาตัวเองไปมากมาย

ที่ว่างานเป็นแดนพัฒนาชีวิตของเรานั้น ขอให้คิดง่ายๆ งานกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเรา เช่น วันละ ๘ ชั่วโมง คือเท่ากับ ๑ ใน ๓ ของวัน เหลืออีก ๑๖ ชั่วโมง ก็นอนบ้าง เดินทางบ้าง เหนื่อยเสียแล้ว หมดไปอีกเยอะ เพราะฉะนั้น เราจะเอาอะไร ก็ต้องเอากับเวลา ๘ ชั่วโมงนี้ อย่าให้เสียเปล่า ถ้าไปมัวทุกข์ฝืนใจกับงานนี้ เราก็แย่ เสียไปวันละ ๘ ชั่วโมงเปล่าๆ และชีวิตเราก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ด้วย

เพราะฉะนั้น ก็รีบสร้างฉันทะขึ้นมา ให้เห็นคุณค่าที่จะรักงานขึ้นมาให้ได้ บอกตัวเองว่า งานนี้ ทำไปเถอะ เราจะได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะ พัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา พัฒนาปัญญา พัฒนาจิตใจ ให้มีความอดทน ให้มีความเพียร ให้รู้จักควบคุมตน ให้มีสติ ให้มีสมาธิ เป็นต้น งานทุกอย่างใช้พัฒนาตัวเราได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น อย่างน้อยก็ได้พัฒนาตัวเอง ถ้ามีฉันทะอย่างนี้ การทำงานก็จะมีความหมาย และมีความสุขมากขึ้น

ถ้าเกิดไปทำงานที่ไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ จิตก็อัดอั้นวนเวียนไปมา ไม่มีทางออก จิตอั้น เดินไม่ได้ ไม่มีทางออกไป ก็คือทุกข์ทั้งนั้น จิตที่เป็นทุกข์ ก็คือจิตที่อัดอั้น ไม่มีทางไป ออกไม่ได้ ก็วกวนอยู่นั่น พอจิตมีทางไปแล้ว ก็โล่ง มีความสุข เพราะฉะนั้น ถ้าไปประสบปัญหา ก็สร้างฉันทะขึ้นมาด้วยวิธีแบบนี้ งานทุกอย่างเราจะมีฉันทะได้หมด ดังที่ว่า ถึงอย่างไรมันก็เป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเรา มันมีคุณค่าที่จะใช้พัฒนาชีวิตของเราได้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |