| |
นิโรธ – มรรค  |   |  

นิโรธ: อวิชชาดับ → สังขารดับ → วิญญาณดับ → นามรูปดับ →สฬายตนะดับ ฯลฯ ชาติดับ → ชรามรณะดับ โสกะ ฯลฯ อุปายาส ดับ = ดับทุกข์

มรรค: สัมมาทิฏฐิ + สัมมาสังกัปปะ + สัมมาวาจา + สัมมากัมมันตะ + สัมมาอาชีวะ + สัมมาวายามะ + สัมมาสติ + สัมมาสมาธิ1053ดับทุกข์

ขอสรุปข้อสังเกตที่ควรทราบ ในตอนเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการของนิโรธ กับวิธีปฏิบัติของมรรค ไว้ดังนี้

- นิโรธ เป็นกระบวนการของธรรมชาติ มรรค เป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ที่จะให้เกิดผลตามกระบวนการธรรมชาตินั้น

• มรรคเกิดจากการใช้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการธรรมชาติของนิโรธนั้นเอง มาจัดวางเป็นวิธีปฏิบัติขึ้น และผู้ที่จะปฏิบัติก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการธรรมชาตินั้นบ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้น มรรคจึงเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ

- นิโรธ เป็นกระบวนการของธรรมชาติ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ โดยตรง เมื่อพูดถึงการดับทุกข์ ก็คือดับเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดทุกข์ ดังนั้น กระบวนการดับทุกข์ของนิโรธจึงลงตัวแน่นอนและสิ้นเชิง เป็นการทำให้หมดปัญหา ไม่มีปัญหา หรือเป็นการให้เกิดภาวะตรงข้ามกับปัญหา ไม่เกิดปัญหาเลยทีเดียว

• ส่วนมรรค วางวิธีปฏิบัติที่ยืดหยุ่นได้ อาจขยายรายละเอียดข้อปฏิบัติออกไปเป็นยากง่ายหลายระดับ กระจายออกจากองค์มรรค ๘ ข้อนั้นไปอีกได้อย่างมากมาย กลายเป็นระบบอันซับซ้อน เป็นวิธีการที่จะบรรลุภาวะหมดปัญหานั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เร็วช้า ทำให้ปัญหาลดลงหรือเหลืออยู่มากน้อย ตามสัดส่วนแห่งการปฏิบัติ

- นิโรธ แสดงการดับทุกข์โดยกล่าวถึงตัวเหตุปัจจัยโดยตรง เป็นเรื่องของการกำจัดสิ้นเชิงที่ตัวเหตุปัจจัยนั้นๆ เสร็จไปทีเดียว จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องความดีความชั่วมากมาย

• มรรค เป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการสั่งสมพลังฝ่ายดีให้แรงกล้าขึ้น เพื่อเอาชนะพลังเหตุปัจจัยฝ่ายร้ายที่หน่วงเหนี่ยวหรือขัดขวาง จึงต้องมีการเน้นเรื่องการละความชั่ว บำเพ็ญสั่งสมความดี ในหลายระดับ โดยเฉพาะในระดับที่ยืดยาด


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |