| |
ก) ผลสำเร็จและขอบเขตความสำคัญของสมาธิ

การเจริญสมาธินั้น จะประณีตขึ้นไปเป็นขั้นๆ โดยลำดับ ภาวะจิตที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว เรียกว่า ฌาน (absorption)

ฌานมีหลายขั้น มองดูง่ายๆ ว่า ยิ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไปเท่าใด องค์ธรรมต่างๆ คือคุณสมบัติของจิต ที่เป็นตัวกำหนดความเป็นฌาน ซึ่งเรียกว่า “องค์ฌาน” ก็ยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น

ฌาน1665 โดยทั่วไป แบ่งเป็น ๒ ระดับใหญ่ และแบ่งย่อยออกไปอีกระดับละ ๔ รวมเป็น ๘ อย่าง เรียกว่า ฌาน ๘ หรือ สมาบัติ ๘ คือ

๑. รูปฌาน ๔ ได้แก่

๑) ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) มีองค์ประกอบ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

๒) ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ประกอบ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

๓) ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ประกอบ ๒ คือ สุข เอกัคคตา

๔) จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) มีองค์ประกอบ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

๒. อรูปฌาน ๔ ได้แก่

๑) อากาสานัญจายตนะ (ฌานที่กำหนดอากาสคือช่องว่าง อันอนันต์)

๒) วิญญาณัญจายตนะ (ฌานที่กำหนดวิญญาณ อันอนันต์)

๓) อากิญจัญญายตนะ (ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใดๆ)

๔) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌานที่เลิกกำหนดสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม เฉพาะอย่างยิ่งอภิธรรมยุคหลัง รุ่นอรรถกถาฎีกา1666 นิยมแบ่งรูปฌานเป็น ๕ ขั้น เรียกว่า “ฌานปัญจกนัย” (แล้วเรียกฌานที่แบ่ง ๔ อย่างเดิม เป็นจตุกกนัย)

ทั้งนี้ โดยซอยละเอียดออกไปจาก (รูป) ฌาน ๔ นั้นเอง คือ แทรกเพิ่มฌานที่ ๒ เข้ามาอีกข้อหนึ่ง ระหว่างปฐมฌาน กับทุติยฌานเดิม เป็น “ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ประกอบ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา” หรือพูดง่ายๆ ว่า ฌานที่ไม่มีวิตก มีแต่วิจาร

แล้วเลื่อนทุติยฌานเดิม ออกไปเป็นตติยฌาน ตติยฌานเดิมเป็นจตุตถฌาน จตุตถฌานเดิมเป็นปัญจมฌาน ตามลำดับ

โดยนัยนี้ เมื่อได้ยินคำว่า ฌาน ๕ ฌานปัญจกนัย ปัญจกัชฌาน ปัญจมฌาน ไม่พึงสับสนหรือแปลกใจ พึงทราบว่า เป็นเพียงการซอยละเอียดจากฌาน ๔ นี้เอง

การเพียรพยายามบำเพ็ญสมาธิ โดยใช้กลวิธีใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเช่นนี้ เรียกว่า “สมถะ

มนุษย์ปุถุชนเพียรพยายามบำเพ็ญสมาธิเพียงใดก็ตาม ย่อมได้ผลสำเร็จอย่างสูงสุดเพียงเท่านี้ หมายความว่า สมถะล้วนๆ ย่อมนำไปสู่ภาวะจิตที่เป็นสมาธิได้สูงสุด เพียงเนวสัญญานาสัญญายตนะเท่านั้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |