| |
ก. วงจรยาว

การแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โต หรือเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ต้องมีความรู้จริงหรือความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้น จึงจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ มิฉะนั้น ปัญหาอาจยุ่งเหยิงสับสนหรือขยายตัวร้ายแรงยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาทั่วๆ ไปของชีวิตแต่ละเรื่องๆ ก็ต้องรู้เข้าใจตัวปัญหาและกระบวนการก่อเกิดของมันเป็นเรื่องๆ ไป จึงจะแก้ไขอย่างได้ผล

ยิ่งเมื่อต้องการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของชีวิต หรือปัญหาของตัวชีวิตเอง โดยจะทำชีวิตให้เป็นชีวิตที่ไม่มีปัญหา หรือให้เป็นอยู่อย่างไร้ทุกข์กันทีเดียว ก็ต้องรู้เข้าใจสภาพของชีวิตที่มีทุกข์ และเหตุปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเกิดเป็นทุกข์ขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องรู้เข้าใจสภาพความจริงที่จะช่วยให้ทำลายกระบวนการก่อเกิดทุกข์ของชีวิตลงได้

โดยนัยนี้ ความไม่รู้ หรือความหลงผิดเพราะไม่รู้จริง จึงเป็นตัวการก่อปัญหา และทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งมุ่งเพื่อแก้ปัญหาหรือหลุดรอดจากทุกข์ กลายเป็นการเพิ่มพูนปัญหา สะสมทุกข์ยิ่งขึ้น ในทางตรงข้าม ความรู้ หรือความเข้าใจตามเป็นจริง จึงเป็นแกนนำของการแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ทุกอย่าง

ในกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร ว่าด้วยการก่อเกิดทุกข์ ที่แสดงมาแล้ว เริ่มต้นด้วยอวิชชา ดังที่เขียนให้เห็นง่าย ต่อไปนี้

อวิชชาสังขารวิญญาณนามรูป→ สฬายตนะ→ผัสสะเวทนาตัณหาอุปาทานภพชาติ→ชรามรณะ + โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส = ทุกขสมุทัย

ในกระบวนธรรมตรงข้าม คือ ปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร ว่าด้วยการดับทุกข์ เริ่มต้นด้วย ดับอวิชชาหรือไม่มีอวิชชา หรือ ปราศจากความไม่รู้ คือมีความรู้ ดังนี้

อวิชชาดับ→สังขารดับ→วิญญาณดับ→นามรูปดับ→สฬายตนะดับ→ผัสสะดับ→เวทนาดับ→ ตัณหาดับ→ อุปาทานดับ→ภพดับ→ ชาติดับ→ ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

มีข้อที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ คือคำว่า “นิโรธ” ซึ่งแปลว่า ดับ มิใช่หมายความเพียงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว จึงทำให้มันดับไปหมดไปเท่านั้น แต่หมายความกว้างขวางรวมไปถึงการที่สิ่งนั้นๆ ไม่เกิดขึ้น ไม่ทำหน้าที่ ไม่ปรากฏขึ้นมา ถูกปิดกั้น ระงับเสีย หรือทำให้สงบเย็น ให้หมดพิษสง ก็ได้ ดังนั้น คำว่า ปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร จึงไม่ได้หมายถึงเพียงกระบวนการที่จะดับทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่หมายถึงกระบวนธรรมที่ปิดกั้นทุกข์ กระบวนธรรมที่ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น หรือกระบวนธรรมที่ทำให้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย ก็ได้ และคำว่า อวิชชาดับ ก็มิใช่หมายเพียงดับความไม่รู้ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่หมายถึงอวิชชาไม่เกิดขึ้น ภาวะปราศจากอวิชชา หรือปราศจากความไม่รู้ ได้แก่มีความรู้ หรือมีวิชชานั่นเอง

รายละเอียดอย่างอื่นทั้งหมด พึงทราบตามแนวที่ได้บรรยายแล้วในเรื่องปฏิจจสมุปบาท คือบทว่าด้วย “ชีวิตเป็นไปอย่างไร ?”

กระบวนธรรมทั้งฝ่ายก่อเกิดทุกข์ และฝ่ายดับทุกข์ อย่างที่เขียนแสดงไว้นี้ เป็นวงจรแบบเต็มรูป หรือวงจรยาว คือมีองค์ธรรมที่เป็นปัจจัยครบทั้ง ๑๒ หัวข้อ และทำหน้าที่สัมพันธ์สืบทอดต่อเนื่องเรียงกันไปตามลำดับจนครบทุกหัวข้อ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง