| |
ทําความเข้าใจถ้อยคํา เช่นว่า “ธรรม” ว่า “สภาวะ”

-สิ่งทั้งหลายเป็น “สภาวะ” คือมีภาวะของมัน ไม่เป็นของใคร ไม่ขึ้นต่อใคร

คำศัพท์ที่มีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรๆ ได้ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็คือ “ธรรม” ดังที่แยกเป็นรูปธรรมและนามธรรม ไม่มีอะไรพ้นออกไปจากนี้ ไม่มีอะไรไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม คำว่าธรรมนั้น ใช้กันในความหมายต่างๆ มากมายนัก แม้แต่ที่จุกจิกปลีกย่อยหยุมหยิมทั่วไปหมด บางครั้งก็ชวนให้สับสน เช่น เรียกความดีงาม ความถูกต้องว่า “ธรรม” อะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงาม ก็ไม่เป็นธรรม แต่เป็นอธรรม กลายเป็นว่ามีสิ่งที่นอกเหนือออกไป ซึ่งไม่ใช่ธรรม นี่คือความสับสนสำหรับคนผู้ยังไม่คุ้นเพียงพอ ที่จะเห็นบริบทแล้ว รู้ทันและเข้าใจได้

ด้วยเหตุนั้น ในหลายโอกาส ท่านจึงนิยมใช้คำที่สื่อตรงไปยังความหมายที่ต้องการ และคำหนึ่งที่นิยมใช้มากคือ “สภาวะ” ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งที่มีภาวะของมันเอง หรือมีอยู่ตามธรรมดาของมัน ที่เกิดมีเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือไม่ เป็นต้น (ไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองสร้างสรรค์บันดาลสั่งการบัญชามันได้) บางทีก็ใส่ “ธรรม” ต่อท้ายติดไว้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |