| |
ง. จำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย  |   |  

การคิดจำแนกแบบนี้ คือ สืบสาวสาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์สืบทอดกันมาของสิ่ง หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ทำให้มองเห็นความจริงที่สิ่งทั้งหลายไม่ได้ตั้งอยู่ลอยๆ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ดำรงอยู่เป็นอิสระจากสิ่งอื่นๆ และไม่ได้ดำรงอยู่โดยตัวของมันเอง แต่เกิดขึ้นด้วยอาศัยเหตุปัจจัย จะดับไป และสามารถดับได้ ด้วยการดับที่เหตุปัจจัย

การคิดจำแนกในแง่นี้ เป็นวิธีคิดข้อสำคัญมากอย่างหนึ่ง ตรงกับวิธีคิดแบบที่ ๑ ที่กล่าวแล้วข้างต้น คือ วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย หรือวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา ซึ่งนอกจากจะได้บรรยายในวิธีคิดแบบที่ ๑ แล้ว ยังได้อธิบายไว้อย่างยืดยาวในบทว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท

ความคิดที่ขาดความตระหนักในความสัมพันธ์ ทำให้คนโน้มเอียงไปในทางที่จะยึดความเห็นสุดทางข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ยึดถือสัสสตวาท มองเห็นว่ามีอัตตาที่ตั้งอยู่เที่ยงแท้นิรันดร หรือยึดถืออุจเฉทวาท มองเห็นว่าอัตตาต้องดับสิ้นขาดสูญไป ทั้งนี้เพราะเมื่อเผลอลืมมองความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย ก็มองเห็นสิ่งนั้นตั้งอยู่ขาดลอยโดดๆ แล้วความเห็นเอียงสุดอย่างใดอย่างหนึ่งก็จึงเกิดขึ้น

แต่ภาวะที่เป็นจริงของสิ่งทั้งหลายไม่ได้ขาดลอย อย่างที่คนตัดตอนมองเอาอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์กัน ขึ้นต่อกัน และสืบทอดกัน เนื่องด้วยปัจจัยย่อยต่างๆ ความมี หรือไม่มี ไม่ใช่ภาวะเด็ดขาดลอยตัว ภาวะที่เป็นจริงเป็นเหมือนอยู่กลาง ระหว่างความเห็นเอียงสุดสองอย่างนั้น ความคิดแบบจำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ช่วยให้มองเห็นความจริงนั้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |