ไปยังหน้า : |
ดังได้กล่าวแล้วว่า ถึงแม้ในพระไตรปิฎกจะมีพุทธพจน์ที่ตรัสถึงภาวิตกาย เป็นต้น หลายแห่ง แต่ไม่มีคำอธิบาย เหมือนว่าผู้ฟังรู้เข้าใจอยู่แล้ว แต่บางครั้ง มีคนภายนอก โดยเฉพาะพวกเดียรถีย์นิครนถ์ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดตามความเข้าใจของเขา จึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสอธิบาย
ในพระสูตรชื่อว่ามหาสัจจกสูตร มีเรื่องที่เป็นเหตุปรารภทำนองนี้ จึงขอยกมาเล่าเป็นตัวอย่าง และในพระสูตรนี้ มีเฉพาะภาวิตกาย มากับภาวิตจิต (เพราะฝ่ายที่ยกเรื่องขึ้นมา พูดเฉพาะ ๒ ภาวิตนี้)
เรื่องมีว่า เช้าวันหนึ่ง สัจจกะ นิครนถบุตร ผู้มีชื่อเสียงเด่นดังมาก (เป็นอาจารย์สอนบุตรหลานของเจ้าลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี อรรถกถานิยมเรียกว่าสัจจกนิครนถ์) เดินมาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้พบและสนทนากับพระพุทธเจ้า เขาเริ่มต้นโดยยกเอาเรื่องกายภาวนา (การพัฒนากาย) และจิตตภาวนา (การพัฒนาจิต) ขึ้นมาพูด และกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ตามความคิดเห็นของเขา เหล่าสาวกของพระองค์เอาแต่ขะมักเขม้นประกอบจิตตภาวนา แต่ไม่ประกอบกายภาวนา (เอาแต่พัฒนาจิต ไม่พัฒนากาย)
การที่สัจจกนิครนถ์แสดงทัศนะขึ้นมาอย่างนี้ อรรถกถาบอกภูมิหลังว่า เพราะเขาเห็นพระภิกษุพากันหลีกเร้นอยู่ในที่สงบ ไม่มีการทรมานร่างกาย เมื่อเขาแสดงความเห็นออกมาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า แล้วตามที่เขาเรียนรู้มา กายภาวนา (การพัฒนากาย) คืออย่างไร สัจจกนิครนถ์ก็ยกตัวอย่างการบำเพ็ญตบะถือพรตต่างๆ ในการทรมานร่างกาย (อัตตกิลมถานุโยค) ว่านั่นแหละคือ กายภาวนา
พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า แล้วจิตตภาวนาล่ะ เขาเรียนรู้มาว่าเป็นอย่างไร ตรงนี้ สัจจกนิครนถ์ไม่สามารถอธิบายได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แม้แต่กายภาวนาที่เขาบอกมาก่อนนั้น ก็ไม่ใช่กายภาวนาหรือการพัฒนากายในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) นี่แม้แต่กายภาวนาเขายังไม่รู้ แล้วเขาจะรู้จักจิตตภาวนาได้จากที่ไหน จากนั้น จึงตรัสบอกให้สัจจกนิครนถ์ฟังคำที่จะทรงอธิบายว่า อย่างไรไม่เป็นภาวิตกาย ไม่เป็นภาวิตจิต และอย่างไรจึงจะเป็นภาวิตกาย อย่างไรจึงจะเป็นภาวิตจิต ดังจะยกความตอนที่เป็นสาระสำคัญมาดู
“แน่ะอัคคิเวสสนะ (ชื่อโคตร/นามสกุลของสัจจกนิครนถ์) อย่างไรจึงจะเป็นภาวิตกาย และเป็นภาวิตจิต? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้เรียนสดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถึงจะได้สัมผัสกับสุขเวทนา เขาก็ไม่ติดใคร่ใฝ่กระสันในสุข ไม่ถึงความเป็นผู้ติดใคร่ใฝ่กระสันในสุขเวทนา (ครั้น) สุขเวทนานั้นดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เขาสัมผัสกับทุกขเวทนาเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่ฟูมฟาย ไม่รำพัน ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอก ไม่ถึงความฟั่นเฟือนเลือนหลง
“อย่างนี้แหละ อัคคิเวสสนะ เพราะเหตุที่ได้พัฒนากายแล้ว สุขเวทนานั้น ถึงแม้เกิดขึ้น ก็หาได้ครอบงำจิตตั้งอยู่ไม่, เพราะเหตุที่ได้พัฒนาจิตแล้ว ทุกขเวทนา ถึงแม้เกิดขึ้น ก็หาได้ครอบงำจิตตั้งอยู่ไม่.
“นี่แน่ะอัคคิเวสสนะ สำหรับอริยสาวกผู้หนึ่งผู้ใด สุขเวทนาถึงแม้เกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้พัฒนากายแล้ว, ทุกขเวทนาถึงแม้เกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้พัฒนาจิตแล้ว, ครบทั้งสองข้าง อย่างนี้แล อัคคิเวสสนะ บุคคลจึงเป็นภาวิตกาย และเป็นภาวิตจิต.”600