ไปยังหน้า : |
เพื่อเสริมความเข้าใจ จะนำคำชี้แจงทางธรรมที่ควรทราบเกี่ยวกับความสุขเหล่านี้มาแสดงไว้ตามสมควร
“ภิกษุทั้งหลาย กามคุณมี ๕ อย่างดังนี้ คือ รูปทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยตา...เสียงทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยหู...กลิ่นทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยจมูก...รสทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยลิ้น...โผฏฐัพพะทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยกาย ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้อยาก เย้ายวนชวนติดใจ, เหล่านี้แล คือกามคุณ ๕; อาศัยกามคุณ ๕ ประการเหล่านี้ มีความสุข ความฉ่ำใจ (โสมนัส) ใดเกิดขึ้น นี้คือส่วนดี (อัสสาทะ, ความหวานชื่น) ของกามทั้งหลาย”2094 “นี้เรียกว่ากามสุข” 2095
“คำว่า กาม โดยหัวข้อ ได้แก่กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม (วัตถุอันน่าใคร่, สิ่งที่อยากได้) ๑ กิเลสกาม (กิเลสที่ทำให้ใคร่, ความอยากที่เป็นตัวกิเลส) ๑
“วัตถุกาม เป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชื่นชอบใจ เครื่องลาด เครื่องห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี รัฐ ประเทศ กองทัพ คลังหลวง วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความติดใคร่ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ชื่อว่าวัตถุกาม; อีกอย่างหนึ่ง กามทั้งหลาย ที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต ที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นทิพย์ ที่ปรากฏเฉพาะหน้า ที่บันดาลเอง ที่ผู้อื่นบันดาลให้ ที่ครอบครอง ที่ไม่ได้ครอบครอง ที่หวงแหน ที่ไม่ได้หวงแหน ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์ของตัณหา ชื่อว่ากาม ด้วยอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความอยาก ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา, เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม
“กิเลสกาม เป็นไฉน? ความพอใจก็เป็นกาม ราคะก็เป็นกาม ความชอบใจติดใคร่ก็เป็นกาม ความดำริก็เป็นกาม ราคะก็เป็นกาม ความครุ่นคิดติดใคร่ก็เป็นกาม, กามฉันทะ กามราคะ กามนันทิ กามตัณหา กามเสน่หา ความเร่าร้อนกาม ความหลงใหลกาม ความหมกมุ่นกาม กามท่วมใจ กามผูกรัดใจ ความถือมั่นในกาม นิวรณ์คือกามฉันท์ กามในข้อความว่า “นี่แน่ะกาม เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้วว่า เจ้าเกิดขึ้นมาจากความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าละ เมื่อทำอย่างนี้ เจ้าก็จักไม่มี”, เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม”2096
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ จึงมีการตั้งครรภ์ เมื่อใดมารดาบิดาร่วมกัน มารดาคราวฤดู ทั้งสัตว์ที่จะเกิดก็ปรากฏ, เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ จึงมีการตั้งครรภ์; มารดาอุ้มท้องประคับประคองครรภ์นั้นตลอดเวลา ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง ด้วยความเสี่ยงชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งเป็นภาวะอันหนัก, ครั้นล่วงเวลา ๙ เดือน หรือ ๑๐ เดือนแล้ว มารดาก็คลอดทารกในครรภ์ ด้วยความเสี่ยงชีวิตเป็นอันมาก อย่างเป็นภาระอันหนัก แล้วเลี้ยงทารกที่เกิดนั้น ด้วยโลหิตของตน; ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมเนียมของอริยชน ถือน้ำนมของมารดานี้ว่าคือโลหิต”2097