| |
ให้ความดีงามในจิตใจบุคคล ออกมาเป็นปฏิบัติการเกื้อสังคม  |   |  

เรื่องความสุขของสังคมยังไม่จบ เมื่อกี้ ได้หันไปพูดถึงหลักธรรมที่เป็นสาระของการจัดระบบสังฆะแล้ว ทีนี้ก็ย้อนกลับมาที่เรื่องของคฤหัสถ์อีก

ที่จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังฆะของพระ หรือสังคมของชาวบ้าน ในขั้นพื้นฐานแท้ๆ คือลึกลงไปในจิตใจ ก็ใช้ฐานทางคุณธรรมชุดเดียวกัน คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (พรหมวิหาร ๔) นั่นเอง

แต่บนฐานทางนามธรรมในระดับจิตปัญญานั้น เวลาจัดออกมาเป็นระบบปฏิบัติการทางสังฆะ และในสังคม ก็ต้องเป็นหลักธรรมอีกระดับหนึ่ง ซึ่งนำไปใช้กับเรื่องสมมุติได้

นี่ก็หมายความว่า สาราณียธรรม ๖ ของพระที่ว่าไปแล้ว ก็ตั้งอยู่บนฐานทางจิตปัญญาของหลักพรหมวิหาร ๔ แต่ทีนี้สำหรับสังคมของโยม จะจัดตามหลักสาราณียธรรมของพระ ก็ยากจะไปได้ไหว อย่างข้อ ๔ ที่ว่าไปแล้ว คือ สาธารณโภคี มีของกินของใช้เป็นของกลางบริโภคได้ทั่วกัน อย่างนี้ในสังฆะทำได้ แต่สังคมของโยมยังคงไปไม่ไหว จะทำได้อย่างดีก็แค่ตีความแบบอนุโลมหรือเลี่ยงๆ ไป

เพราะฉะนั้น หลักธรรมขั้นปฏิบัติการในสังคมของโยม จึงจัดออกมาเป็นอีกชุดหนึ่งที่ต่างออกไป ถ้าถามว่าหลักนั้นคือหลักอะไร ใครบ้างจะตอบได้ไหม

ตรงนี้ ขอแทรกหน่อย คือ ญาติโยมชาวพุทธนี้เอง ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ ยังแยกไม่ออก ยังเอามาประสานกันไม่ได้ ระหว่างหลักธรรมระดับนามธรรมทางจิตปัญญา กับหลักธรรมระดับปฏิบัติการในสังคมมนุษย์

อย่างที่พบกันอยู่ทั่วไป คนจำนวนมากยกเรื่องเมตตา กรุณา เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณธรรมในใจ แต่เอามาพูดเหมือนอย่างเป็นหลักขั้นปฏิบัติการในสังคม แล้วตัวเองก็สับสน และพาคนอื่นให้งงและไขว้เขวไปด้วย2169

ตอนนี้จึงขอทำความเข้าใจ เมื่อกี้บอกว่า บนฐานทางจิตปัญญาของหลักพรหมวิหาร ก็ออกมาเป็นหลักปฏิบัติการในสังฆะ ได้แก่หลักสาราณียธรรม ๖ (สารณียธรรม ก็เขียน)

ในสาราณียธรรมนี้ จะเห็นชัดว่า เมตตาไม่ใช่แค่แช่อิ่มอยู่ในใจ แต่ออกมาสู่การปฏิบัติ เป็น เมตตากายกรรม (การกระทำทางกายที่มีเมตตา หรือกุลีกุจอช่วยเหลือร่วมมือด้วยเมตตา) เมตตาวจีกรรม (การกระทำทางวาจาที่มีเมตตา หรือพูดด้วยเมตตา) เมตตามโนกรรม (การกระทำทางใจที่มีเมตตา หรือคิดการต่างๆ ด้วยเมตตา)

ทีนี้ ในสังคมของโยมบ้าง เมตตา เป็นต้น ในหลักพรหมวิหารนั้น จะออกมาเป็นหลักขั้นปฏิบัติการเรียกว่าอะไร ก็ตอบไปเสียเลยว่า คือ หลักสังคหวัตถุ ๔

ขอทวนความหลังนิดหนึ่งว่า ตอนแรกเราพูดถึงทานในชุดพัฒนาตัวเอง คือบุญกิริยาวัตถุ ๓ เป็น ทาน ศีล ภาวนา ทีนี้มาเป็นชุดปฏิบัติการในสังคมของสาคารชน คือชาวบ้านทั้งหลาย ก็ได้แก่สังคหวัตถุ ๔


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |