| |
บันทึกที่ ๑: การเจริญสติปัฏฐาน คือการอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ที่จะต้องดับ

การดำเนินชีวิต หรือการเป็นอยู่ของมนุษย์ มองด้านหนึ่ง อาจเห็นว่า เป็นการดิ้นรนต่อสู้ เพื่อความอยู่รอด และเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต แต่มองอีกด้าน จะเห็นภาพซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง คือ ทุกคนกำลังแสวงหาความสุข ทั้งนี้ มิใช่เฉพาะคนมั่งมีพรั่งพร้อมอยู่แล้ว ที่กำลังหาทางปรนเปรอตนเท่านั้น แม้แต่คนที่กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอย่างสุดแรง ก็กำลังพยายามทำให้ชีวิตของตนมีความสุขเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะมองในช่วงกว้าง เช่น การประกอบอาชีพการงานดำเนินกิจการต่างๆ ก็ตาม หรือมองช่วงสั้นถี่เข้ามา จนถึงความเป็นอยู่ ความเคลื่อนไหว และการกระทำในแต่ละขณะ ก็ตาม การใฝ่หาความสุข จะแฝงอยู่ด้วยเสมอ แม้ว่าจะถูกขัดถูกย้อนถูกยั้งด้วยสำนึกทางจริยธรรม เป็นต้น บ้างในบางคราว

ความจริง การหาความสุขในช่วงกว้างยาว ก็ขยายออกไปจากการหาความสุขช่วงสั้นแต่ละขณะนี้เอง ผู้ปรารถนาความสุขที่แท้จริง เมื่อจะจัดการกับชีวิตของตน จะต้องสนใจ และหาทางทำให้ชีวิตที่เป็นอยู่บัดนี้แต่ละขณะมีความสุขได้ การพยายามหาความสุขจึงจะมีทางสำเร็จ แต่ถ้าชีวิตที่เป็นอยู่แต่ละขณะนี้ ยังทำให้มีความสุขไม่ได้แล้ว การที่จะมีความสุขได้ในช่วงยาวไกล ก็เป็นเพียงความหวังอันเลื่อนลอย และคงจะต้องเป็นความหวังอยู่เรื่อยไป

ตรงข้าม ถ้าสามารถทำให้ชีวิตเองล้วนๆ แต่ละขณะ ที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ มีความสุขได้แล้ว การพยายามหาความสุขก็ประสบความสำเร็จแล้วทันที เมื่อได้ปัจจัยแวดล้อมอื่นอำนวย ก็มีแต่จะสุขสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป

กระบวนการหาความสุขของมนุษย์ ซึ่งมองเห็นได้แม้แต่ช่วงสั้นแต่ละขณะๆ ก็คือ เกิดความอยากขึ้น หรือทำความอยากให้เกิดขึ้น แล้วทำการต่างๆ เพื่อสนองความอยากนั้น เมื่อได้สนอง ทำให้ความอยากสงบระงับลง ก็ได้รับความสุข

ยิ่งเร้าความอยากให้แรงมาก ก็ต้องสนองระงับแรงขึ้น และได้รับความสุขมากขึ้น ความสุขจึงได้แก่การสนองระงับความอยาก

ถามว่า ความอยาก คืออะไร? ไม่ต้องตอบโดยตรง ที่ชัดก็คือ เมื่อเกิดความอยากขึ้นแล้ว จะมีอาการแสดงออกสำคัญ ๒ อย่าง คือ

- ความขาด ความพร่อง ไม่มีสิ่งที่อยาก ไม่ว่าขาดแคลนจริง หรือความขาดแคลนที่สร้างขึ้นเอง และ

- ความกระสับกระส่าย กระวนกระวาย หรือถึงกับทุรนทุราย เพราะถูกเหนี่ยวรั้ง หรือถูกดึงให้ยืดตึงออกไปจากสภาพที่เป็นอยู่ขณะนั้นๆ ทำให้สงบนิ่งอยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นรนหาทางทำให้ความกระวนกระวายนั้นสงบระงับไป

เมื่อได้สนองความอยาก ก็กลับเต็มเป็นปกติ และทำให้ความร้อนรนกระวนกระวายสงบลง ระงับ หมดไป เวลาช่วงนั้นคือการได้รับความสุข แต่ถ้าความอยากไม่ถูกสนองระงับ ไม่สงบไป ก็เกิดความทุกข์ ความขาดแคลน และความกระสับกระส่ายกระวนกระวายนั่นเอง เป็นสิ่งบีบคั้น เป็นความทุกข์

ยิ่งอยากมาก ก็ยิ่งพร่อง ยิ่งกระวนกระวายมาก และความทุกข์ก็ยิ่งแรงมาก ความจริง ก็เริ่มทุกข์ ตั้งแต่เริ่มอยากนั่นเอง เพราะพอเริ่มอยาก ก็เริ่มกระวนกระวาย

โดยนัยนี้ จึงพูดได้อีกสำนวนหนึ่งว่า การหาความสุขตามปกติของมนุษย์ ก็คือ การเร้าความทุกข์ขึ้นแล้ว หาทางสงบระงับความทุกข์นั้นลงไปคราวหนึ่งๆ หรือความสุข ก็คือการดับทุกข์ได้นั่นเอง ยิ่งถูกเร้าให้ทุกข์แรง เมื่อสนองระงับ ก็ยิ่งรู้สึกได้สุขมาก

ตามปกติ ระยะเวลาที่เริ่มอยาก เริ่มพร่อง กระวนกระวาย มีทุกข์แล้ว แต่ยังไม่ได้สนองระงับ จะยาวนาน หรือยาวนานมาก ส่วนเวลาที่ได้รับการสนองระงับสงบไปได้ มักจะสั้นนิดเดียว ชีวิตมนุษย์ที่ระคนด้วยสุขทุกข์ จึงมากด้วยทุกข์ และต้องเอาความหวังเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |