ไปยังหน้า : |
ถ้าสรุปตามพระบาลี การฝึกอบรมเจริญสมาธิ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา (การเจริญสมาธิ) มี ๔ อย่าง ดังนี้ คือ
๑. สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)
๒. สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ
๓. สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ
๔. สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” 1596
แบบที่ ๑ บาลีขยายความว่า ได้แก่ ฌาน ๔ ข้อ นี่ก็คือ การเจริญฌานในลักษณะที่พูดอย่างชาวบ้านว่าเป็นวิธีหาความสุขแบบหนึ่ง ตามหลักที่แบ่งความสุขเป็น ๑๐ ขั้น1597 ซึ่งประณีตขึ้นไปตามลำดับ คือ กามสุข สุขในรูปฌาน ๔ ขั้น สุขในอรูปฌาน ๔ ขั้น และสุขในนิโรธสมาบัติ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย นิยมเจริญฌานในโอกาสว่าง เพื่อเป็นการพักผ่อนอย่างสุขสบาย ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร
แบบที่ ๒ บาลีขยายความว่า ได้แก่การมนสิการอาโลกสัญญา (กำหนดหมายในแสงสว่าง) อธิษฐานทิวาสัญญา (กำหนดหมายว่าเป็นกลางวัน) เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีใจเปิดโล่ง ไม่ถูก (นิวรณ์) ห่อหุ้ม ฝึกให้เป็นจิตที่มีความสว่าง
อรรถกถาอธิบายว่า การได้ญาณทัสสนะในที่นี้ หมายถึงการได้ทิพยจักษุ และท่านกล่าวว่า ทิพยจักษุนั้นเป็นยอดของโลกิยอภิญญาทั้ง ๕ (อีก ๔ คือ อิทธิวิธิ ทิพยโสต เจโตปริยญาณ และปุพเพนิวาสานุสติญาณ) บางแห่งท่านกล่าวถึงญาณทัสสนะนี้คำเดียว หมายคลุมถึงโลกิยอภิญญาหมดทั้ง ๕ ดังนั้น ประโยชน์ข้อนี้จึงหมายถึงการนำเอาสมาธิไปใช้เพื่อผลสำเร็จทางจิต คือความสามารถพิเศษจำพวกอภิญญา รวมทั้งอิทธิปาฏิหาริย์
แบบที่ ๓ คือ การตามดูรู้ทันความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นดับไป ในความเป็นอยู่ประจำวันของตน ดังที่บาลีไขความไว้ว่า เวทนา สัญญา และวิตกทั้งหลาย จะเกิดขึ้น จะตั้งอยู่ จะดับไป ก็เป็นไปโดยรู้ชัด
แบบที่ ๔ บาลีขยายความว่า ได้แก่ การเป็นอยู่โดยมีปัญญามองดูรู้ทันอยู่เสมอ ถึงความเกิดขึ้น และความเสื่อมสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูป เป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นของรูป เป็นดังนี้ ความดับไปของรูป เป็นดังนี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นดังนี้ เกิดขึ้นดังนี้ ดับไปดังนี้ มองอย่างกว้างๆ ก็คือ การใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ทางปัญญา เป็นอุปกรณ์ในการเจริญวิปัสสนา อย่างที่เรียกว่า เป็นบาทฐานของวิปัสสนา เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ อาสวักขยญาณ หรือวิชชาวิมุตติ 1598
ตามคำอธิบายของอรรถกถา จะเห็นว่า ประโยชน์อย่างที่ ๑ และ ๒ เป็นด้านสมถะ ส่วนประโยชน์อย่างที่ ๓ และ ๔ เป็นด้านวิปัสสนา