| |
แบบที่ ๒ ทักขิไณยบุคคล ๗ หรือ อริยบุคคล ๗  |   |  

เกณฑ์แบ่งแบบนี้ จัดตามอินทรีย์ที่แก่กล้าเป็นตัวนำในการปฏิบัติ และสัมพันธ์กับวิโมกข์ ๘ จึงควรทราบอินทรีย์ และวิโมกข์ ๘ ก่อน

อินทรีย์ แปลว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจ หมายถึง ธรรมที่เป็นเจ้าการ ในการครอบงำหรือกำราบสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ในการปฏิบัติธรรม คือ ความขาดศรัทธา ความเกียจคร้าน ความเพิกเฉยปล่อยปละละเลย ความฟุ้งซ่าน และการขาดความรู้ ความหลงผิด หรือการไม่ใช้ปัญญา

อินทรีย์เป็นอำนาจที่หนุนนำให้ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปได้ มี ๕ อย่าง คือ สัทธา (ความเชื่อ) วิริยะ (ความเพียร) สติ (ความระลึกได้ หรือครองใจไว้กับกิจที่ทำ) สมาธิ (ความมีจิตตั้งมั่น) และปัญญา (ความรู้ชัดหรือความเข้าใจ)

ในการปฏิบัติธรรม อินทรีย์แต่ละอย่างของต่างบุคคล จะยิ่งหรือหย่อนไม่เท่ากัน อินทรีย์ที่ทำให้เกิดความแตกต่างในการบรรลุธรรม จนเป็นเกณฑ์แบ่งประเภททักขิไณย หรืออริยบุคคล มี ๓ อย่าง คือ สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา) สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือสมาธิ) และ ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา)

วิโมกข์ แปลว่า ความหลุดพ้น หมายถึงภาวะที่จิตหลุดพ้นจากธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหลาย เพราะจิตนั้นยินดียิ่งในอารมณ์ที่กำลังกำหนด จึงน้อมดิ่งเข้าอยู่ในอารมณ์นั้น ในเวลานั้นจิตปราศจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงเรียกว่าเป็นความหลุดพ้น แต่ก็เป็นเพียงความหลุดพ้นด้วยกำลังสมาธิในฌานสมาบัติ และเป็นไปชั่วคราวตราบเท่าที่อยู่ในฌานสมาบัติเหล่านั้น 807 ไม่ใช่วิมุตติที่เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์สิ้นเชิง ซึ่งเป็นไวพจน์ของนิพพาน 808


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |