| |
วิธีแก้ปัญหาแบบพุทธ  |   |  

บางครั้งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พุทธศาสนาสอนให้แก้ปัญหาทุกอย่าง แม้แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่ภายในจิตใจเท่านั้น ซึ่งน่าจะไม่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เพียงพอ หรือได้ผลแท้จริง

สำหรับข้อสังเกตนี้ ควรทำความเข้าใจแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ว่าโดยหลักการอย่างหนึ่ง ว่าโดยแง่เน้นของคำสอน หรือแง่ที่มีเนื้อหาคำสอนมากกว่า เด่นกว่า อย่างหนึ่ง

ว่าโดยหลักการ วิธีการแก้ปัญหาแบบพุทธ มีลักษณะสำคัญ ๒ อย่าง คือ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาของมนุษย์โดยฝีมือของมนุษย์เองอย่างหนึ่ง หรืออาจพูดรวมว่า เป็นการแก้ปัญหาของมนุษย์โดยมนุษย์เอง ที่ตรงตัวเหตุปัจจัย

ที่ว่าแก้ตรงเหตุปัจจัย ก็ว่าเป็นกลางๆ ไม่จำกัดเฉพาะข้างนอก หรือข้างใน และที่ว่าแก้ปัญหาของมนุษย์โดยมนุษย์เอง ก็จะเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้มนุษย์มองปัญหาของตนที่ตัวมนุษย์เอง ไม่ใช่มองหาเหตุและมองหาทางแก้ไปที่บนฟ้า หรือซัดทอดโชคชะตา และให้แก้ไขด้วยการลงมือทำ ด้วยความเพียรพยายามตามเหตุผล ไม่ใช่หวังพึ่งการอ้อนวอน หรือนอนคอยโชค เป็นต้น ดังได้เคยกล่าวแล้ว

ว่าโดยแง่เน้นของคำสอน หรือส่วนที่มีเนื้อหาคำสอนมากกว่า เด่นกว่า ควรจะย้ำไว้ก่อนว่า พระพุทธศาสนาสอนให้แก้ปัญหา ทั้งด้านนอกด้านใน ทั้งทางสังคมและทางจิตใจของบุคคล คือ มีคำสอนขั้นศีล เป็นด้านนอก กับขั้นจิตและปัญญาเป็นด้านใน

จากนี้จึงมาทำความเข้าใจกันต่อไปว่า เมื่อกล่าวตามแง่เน้นของคำสอนเท่าที่มีอยู่ เนื้อหาคำสอนที่บันทึกอยู่ในคัมภีร์ ส่วนที่ว่าด้วยการแก้ปัญหาด้านใน หรือด้านจิตปัญญา มีมากกว่าส่วนที่ว่าด้วยการแก้ปัญหาด้านนอก หรือปัญหาทางสังคม เป็นต้น

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เนื้อหาคำสอน เน้นด้านแก้ปัญหาทางจิตใจ มากกว่าแก้ปัญหาทางสังคม หรือด้านภายนอกอย่างอื่น ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องธรรมดาโดยเหตุผล และควรจะเป็นเช่นนั้น ขอแสดงเหตุผลบางอย่าง เช่น

โดยความคงตัวแห่งธรรมชาติของมนุษย์: ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตด้านใน หรือปัญหาทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ล้วนๆ มากที่สุด คือ มนุษย์ทุกถิ่นฐานกาลสมัย มีธรรมชาติของปัญหาทางจิตใจเหมือนๆ กัน ถึงจะต่างสังคม หรือสังคมจะต่างยุคสมัย ธรรมชาติทางจิตปัญญาของมนุษย์ ก็ยังคงเป็นอย่างเดิม คือ มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่มีโลภ โกรธ หลง รักสุข เกลียดทุกข์ เป็นต้น อยู่อย่างเดียวกัน

ส่วนปัญหาด้านนอกเกี่ยวกับสังคม มีส่วนหนึ่งเกี่ยวด้วยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อยังเป็นมนุษย์ ก็จะมีลักษณะปัญหาเช่นนั้น แต่ส่วนอื่นๆ นอกจากนั้น เกี่ยวข้องกับปัจจัยอย่างอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมซึ่งแตกต่างๆ กันไปในส่วนรายละเอียดได้อย่างมากมาย ตามกาละและเทศะ

โดยอาศัยความเป็นจริงเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง และเป็นอย่างที่ควรจะเป็นว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภายในทางจิตปัญญาเป็นหลัก และมีคำสอนด้านนี้มากมาย ส่วนการแก้ปัญหาภายนอก ด้านคำสอนระดับศีล ทรงสอนแต่หลักกลางๆ ที่เนื่องด้วยธรรมชาติของมนุษย์ เช่น การไม่ควรทำร้ายเบียดเบียนกัน ทั้งทางชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน สิ่งหวงแหน ด้วยกาย หรือด้วยวาจา และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นต้น ส่วนรายละเอียดนอกเหนือจากนั้น เป็นเรื่องแตกต่างกันไปตามปัจจัยอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องของต่างถิ่น ต่างยุคสมัย เป็นเรื่องของมนุษย์ที่รู้หลักการทั่วไปของการแก้ปัญหาแล้ว จะพึงวางหลักเกณฑ์วิธีการจัดการแก้ไขตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะไปวางบทบัญญัติไว้ให้มนุษย์เป็นการตายตัว


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |