| |
ความสนุกในการเรียน กับความสุขในการศึกษา  |   |  

คราวนี้ หันมามองทางด้านการศึกษา ในการศึกษานั้น ต้องให้เกิดฉันทะให้ได้ ถ้าฉันทะไม่เกิด การเรียนก็จะไม่มีความสุขจริง อย่างดีก็จะได้แค่สนุก คือได้แค่ความสุขของนักเสพ เหมือนดูหนังดูละคร

ถ้าเกิดฉันทะขึ้นแล้ว กระบวนการเรียนจะสนุกสนานหรือไม่ ก็เป็นเรื่องย่อย ไม่ค่อยสำคัญ ความสนุกก็เพียงมาช่วยเสริมให้เด็กได้รับการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และเป็นอุปกรณ์เครื่องประกอบ ที่ช่วยสื่อให้เข้าใจสาระได้ง่าย แต่ความสนุกนั้นไม่ใช่เนื้อตัวของการศึกษา ยังไม่เข้าไปในกระบวนการของการศึกษาแท้จริง พูดโยงกับหลักที่พูดมาแล้ว ก็คือ เป็นเพียงเงื่อนไข ซึ่งจะต้องรู้จักใช้ในการที่จะหนุนฉันทะเพื่อเข้าสู่การศึกษาให้ได้จริง

การศึกษาเริ่มที่ฉันทะ เด็กต้องมีฉันทะขึ้นมาในตัวของเขา ความสนุกจะมีประโยชน์ก็เมื่อมาใช้กระตุ้นให้เกิดฉันทะได้สำเร็จ ถ้าได้แค่สนุก แต่ฉันทะไม่มา ก็ต้องพึ่งพาความสนุกอยู่นั่น และต้องเพิ่มความสนุกมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วครูก็เหนื่อย เพราะต้องกระตุ้นกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็ต้องหาทางแปลกใหม่ให้สนุกได้ต่อไปอีก จะมาสอนทีหนึ่ง ก็ไปนั่งคิดว่าทำอย่างไรจะให้เด็กสนุก ยุ่งจนเหนื่อยกับการหาวิธีให้เด็กสนุก

การสอนสนุก เป็นความเก่งที่น่าชื่นชม แต่ต้องเชื่อมต่อไปถึงฉันทะให้ได้ ดังนั้น จึงต้องระวัง ต้องแยกได้ มิให้ความสนุกนั้นเป็นแค่การได้สนองความต้องการในการเสพ อย่างที่พูดเมื่อกี้ ว่าเหมือนดูหนังดูละคร ถ้าอย่างนี้ ครูหรือผู้สอนก็จะเป็นเหมือนนักแสดง และความสุขจากการได้เสพแล้วสนุก ก็คืออยู่ในขั้นของการสนองตัณหานั่นเอง

ทีนี้ ถ้าสนุกจากการได้เสพทางตาหูเพื่อสนองตัณหา ก็จะพบปัญหาอันจะต้องเตรียมกันเตรียมแก้ ปัญหาพื้นฐาน คือ ความติดเสพ การติดอยู่แค่ขั้นเสพ และความชินชาเบื่อหน่าย ที่ทำให้ต้องกระตุ้นมากขึ้นแรงขึ้น ทั้งโดยปริมาณและดีกรี

เรียนหรือดูการสอนคราวนี้ สนุกมาก แต่คราวต่อไป ถ้าสอนอย่างนั้นอีกๆ ก็ชักชิน แล้วก็ชักจะเบื่อ คราวหน้าจึงต้องหาทางให้สนุกมากขึ้น หรือเปลี่ยนแง่มุมใหม่ เพิ่มดีกรีของการกระตุ้นในการสนองตัณหายิ่งขึ้นไป ทีนี้ก็สนองกันต้องไม่หยุด และก็หยุดไม่ได้ คุณครูก็เหนื่อย จนชักจะหมดแรง และในที่สุด นักเรียนก็หมดเหมือนกัน คือวนอยู่แค่นั้น ว่ายเวียนอยู่กับตัณหา ไม่ไปไหน เพราะตัน ไม่มีทางไป

ที่ว่าติดเสพ ก็คือเหมือนติดดูหนังดูละคร หรือแม้แต่ติดความสนุก จะเอาแต่สนุก หาความสนุก ที่ว่ามาเรียนนั้น ไม่ใช่ติดใจอยากเรียน แต่ติดใจจะมาดูการแสดงอีก ไม่ได้มีจิตใจที่จะเรียน ที่จะหาความรู้ ที่จะค้นจะคว้า ถ้าให้ไปค้นคว้าเอง ไม่เอา ได้แต่รอมาเฝ้าดูการแสดง ถ้าอย่างนี้ ก็ยิ่งเพิ่มแรงให้แก่กระแสตัณหา

ที่ว่าติดอยู่แค่ขั้นเสพ ก็หมายความว่า ถ้าทำไม่ถูก จิตใจของผู้เรียน ก็ไม่ไปสู่การเรียนรู้ ก็ติดก็ข้องอยู่แค่การเสพความสนุก เพลินอยู่กับภาพและเสียงและเรื่องราวที่สนุกสนานเท่านั้น ไม่เชื่อมไม่ต่อไม่ก้าวไปสู่การเรียนรู้สาระที่ต้องการ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ไม่เกิดมีฉันทะขึ้นมา

เพราะฉะนั้น จะต้องระวังที่จะมองความหมายของการให้เด็กสนุกในการเรียนนี้ ให้ถูกให้ตรง

การทำให้สนุกนี้ เป็นการกระตุ้นความสนใจเบื้องต้น เรียกว่าเป็นบุพภาค เป็นขั้นของปัจจัยภายนอก ก็คือมาทำหน้าที่สื่อนั่นเอง จึงไม่ใช่จบที่นั่น เมื่อไม่จบที่นั่น จึงต้องจับความมุ่งหมายให้ได้

เป้าหมายในการทำหน้าที่ของปัจจัยภายนอก อยู่ที่การสร้างปัจจัยภายในให้เกิดขึ้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |