| |
มรรค ในฐานะมัชฌิมาปฏิปทา

“ภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้ บรรพชิตไม่พึงเสพ กล่าวคือ การหมกมุ่นด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย อันทราม เป็นของชาวบ้าน ของปุถุชน มิใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อย่างหนึ่ง และการประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน อันเป็นทุกข์ ไม่เป็นอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อย่างหนึ่ง”

“ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งทางสายกลาง อันไม่ข้องแวะที่สุดสองอย่างนั้น อันให้เกิดดวงตา ให้เกิดญาณ (การรู้) เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”

“ก็ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) นั้น...เป็นไฉน? ทางนั้น คือมรรคาอันเป็นอริยะ มีองค์ประกอบ ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ1078

พุทธพจน์จากปฐมเทศนา หรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ แสดงความหมาย เนื้อหา และจุดหมายของมัชฌิมาปฏิปทาไว้โดยสรุปครบทั้งหมด ที่ควรสังเกต คือ ความเป็นทางสายกลาง (the Middle Path หรือ Middle Way) นั้น เป็นเพราะไม่เข้าไปข้องแวะที่สุด ๒ อย่าง (แต่ไม่ใช่อยู่กลางระหว่างที่สุดทั้งสอง) คือ

๑. กามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข (the extreme of sensual indulgence หรือ extreme hedonism)

๒. อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง (the extreme of self-mortification หรือ extreme asceticism)

บางครั้ง มีผู้นำเอาคำว่าทางสายกลางไปใช้อย่างกว้างขวาง หมายถึง การกระทำหรือความคิด ที่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างการกระทำหรือความคิดสองแบบสองแนว หรือคนสองพวกสองฝ่าย คือวัดเอาให้ได้ครึ่งทางระหว่างสองแบบหรือสองฝ่ายนั้น

ความเป็นกลาง หรือทางสายกลางอย่างนี้ ไม่มีหลักอะไรที่แน่นอน ต้องรอให้เขามีสองพวกสองฝ่ายก่อน จึงจะเป็นกลางได้ และจุดกลาง หรือเส้นกลางก็ไม่แน่ลงไปว่าแค่ไหน สุดแต่สองพวกหรือสองฝ่ายเขาจะยึดถือปฏิบัติกันแค่ใด ทางสายกลางนั้นก็ขยับเขยื้อนเลื่อนไปให้ได้ครึ่งทางระหว่างสองพวกสองฝ่ายนั้น บางครั้งทางสายกลางแบบนี้ก็มองดูคล้ายกับทางสายกลางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แต่พึงทราบว่าเป็นทางสายกลางเทียม ไม่ใช่ของแท้จริง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |