| |
จ) หลักคำสอนเพื่อเป็นเกณฑ์วินิจฉัย  |   |  

ก่อนจะพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการให้ผลของกรรมดีและกรรมชั่วในหัวข้อถัดไป ขอนำข้อความจากบาลีต่อไปนี้ มาอ้างเป็นหลักสำหรับความที่ได้กล่าวมาในตอนนี้

ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ กุศลมูล ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยกุศลมูลนั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้คือธรรมเป็นกุศล”

“ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยอกุศลมูลนั้น, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้คือธรรมเป็นอกุศล” 457

“อันตรายมี ๒ อย่าง คือ อันตรายที่เปิดเผย และอันตรายที่ซ่อนอยู่”

“อันตรายที่เปิดเผย เป็นไฉน? ได้แก่ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า ฯลฯ โจร ฯลฯ โรคตา โรคหู โรคจมูก ฯลฯ หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ สัมผัสเหลือบยุง ลมแดดและสัตว์เสือกคลาน เหล่านี้เรียกว่าอันตรายที่เปิดเผย”

“อันตรายที่ซ่อนอยู่ เป็นไฉน? ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ (ลบล้าง ปิดซ่อนความดีของผู้อื่น) ความยกตัวกดเขาไว้ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความดื้อกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความมัวเมา ความประมาท ปวงกิเลส ปวงความทุจริต ปวงความกระวนกระวาย ปวงความร่านรน ปวงความเดือดร้อน ปวงความปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เหล่านี้เรียกว่าอันตรายที่ซ่อนอยู่”

“ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย? เพราะอรรถว่าครอบงำ...เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม...เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย...”

“ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าครอบงำ เป็นอย่างไร? คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมข่ม ย่อมกดขี่ ครอบงำท่วมทับ บั่นรอน ย่ำยี บุคคลนั้น...”

“ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร?คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ”

“ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย เป็นอย่างไร? คือ อกุศลธรรมชั่วร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ภายในนั้น อาศัยอัตภาพอยู่ เหมือนกับสัตว์อาศัยรู ก็อยู่ในรู สัตว์อาศัยน้ำ ก็อยู่ในน้ำ สัตว์อาศัยป่า ก็อยู่ในป่า สัตว์อาศัยต้นไม้ ก็อยู่ที่ต้นไม้ ฯลฯ”

“สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า: ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย ยังมีอาจารย์คอยสอดส่อง458 ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกสบาย;


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง