| |
ข้อ ๔. เข้าประจำที่  |   |  

ก. อยู่ในวัดที่เหมาะแก่การเจริญสมาธิ ความจริง ควรอยู่วัดเดียวกับพระอาจารย์ แต่ถ้าไม่ผาสุก ก็พึงไปหาวัดที่เป็นสัปปายะ สาระคือ หาสถานที่ที่เหมาะ เกื้อกูลแก่การปฏิบัติ

ท่านให้เว้นวัด คือ ที่อยู่ ซึ่งมีโทษ ๑๘ ประการ คือ

วัดใหญ่ (มีพระมาก ต่างจิตต่างใจ เรื่องมาก และไม่ค่อยสงบ)

วัดใหม่ (ต้องพลอยไปยุ่งงานก่อสร้างกับเขาด้วย)

วัดเก่าจัด (มีเรื่องดูแลมาก)

วัดติดทาง (อาคันตุกะมาบ่อย)

วัดมีสระหิน (คนมาชุมนุมกันมาก)

วัดมีผัก วัดมีไม้ดอก วัดมีไม้ผล (คนจะมากันเรื่อย มาเก็บดอกไม้ ขอผลไม้ ฯลฯ วุ่นวาย)

วัดที่คนเชื่อถือมาก (ว่ามีพระวิเศษ เป็นต้น คนจะมาออกันมาก)

วัดติดเมือง วัดติดป่าไม้ใช้สอย วัดติดที่นา (เป็นถิ่นที่ชาวบ้านทำกิจธุระ การงาน และหาเลี้ยงชีพ)

วัดมีคนไม่ถูกกัน (ยุ่งกับปัญหา)

วัดติดท่าน้ำท่าบก (คนมากับรถกับเรือ แวะเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่ได้สงบ)

วัดถิ่นห่างไกลชายแดน (ที่คนไม่นับถือพระศาสนา)

วัดติดพรมแดน (เขตแห่งอำนาจระหว่าง ๒ รัฐ อาจเป็นการเสี่ยงภัย แม้แต่ถูกหาว่าเป็นจารบุรุษ)

วัดมีสภาพไม่เป็นสัปปายะ (เป็นที่มีอารมณ์ต่างๆ รบกวนมาก)

วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ (ข้อนี้ชัดอยู่แล้ว)

ส่วนวิหาร หรือวัด ที่เหมาะสม คือ เสนาเสนะที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันได้แก่

๑. ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไปมาสะดวก

๒. กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนไม่อึกทึก

๓. ปราศจากการรบกวนของเหลือบยุง ลมแดด สัตว์เลื้อยคลาน

๔. เมื่อพักอยู่ที่นั้น ไม่ขัดสนปัจจัยสี่

๕. มีพระเถระพหูสูต ซึ่งจะสามารถเข้าไปสอบถามอรรถธรรม ให้ท่านช่วยอธิบายแก้ความสงสัยได้ 1641

ข. ตัดปลิโพธเล็กๆ น้อยๆ คือ ข้อกังวลเกี่ยวกับร่างกาย เครื่องใช้ประจำตัว ไม่ต้องให้เป็นข้อกวนใจจุกจิกขึ้นอีก เช่น ตัดโกนผมขนเล็บ เย็บย้อมจัดการเรื่องผ้าจีวรให้เรียบร้อย ชำระที่พักอาศัยให้สะอาด เป็นต้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |