ไปยังหน้า : |
ที่พูดมานั้น คือว่าไปตามเรื่องของธรรมดาของธรรมชาติ ตามที่มันเป็นของมัน ทีนี้พอหันมาดูในแง่ของมนุษย์ ที่ไปเกี่ยวข้องกับมัน หรือเอามันมาเป็นเรื่องของมนุษย์ สภาวะที่เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องสำหรับปัญญาจะรู้เข้าใจ แล้วจะได้ปฏิบัติต่อมันและเกี่ยวข้องกับมันด้วยความรู้ของปัญญานั้น เรียกว่าเท่าทันกัน
แต่มนุษย์มักมีจิตใจซึ่งมีความอยากความปรารถนาเป็นเจ้าใหญ่ และมนุษย์ก็มักอยู่ในขั้นของการเข้าไปเกี่ยวข้องปฏิบัติจัดการกับสรรพสังขารในโลกด้วยการเอาความอยากความปรารถนาเป็นตัวกำหนด โดยที่ว่าเมื่อจำเป็นจึงเอาปัญญามาใช้แค่สนองหรือรับใช้ความปรารถนานั้น มิใช่ให้ปัญญามาเป็นใหญ่ที่จะชี้นำบอกทางแก่ความปรารถนาของจิตใจ และความอยากความปรารถนานั้นโดยทั่วไปก็เด่นออกมาในระดับของสภาวะที่เรียกว่าตัณหา และตัณหานั้นก็มาในระบบของชุดที่เรียกว่า อวิชชา-ตัณหา-อุปาทาน จากตัณหาในชุดที่ว่านี้ มนุษย์ก็ประสบเรื่องราวมากมายที่เรียกว่าปัญหา ซึ่งเป็นภาวะที่เป็นทุกข์ของมนุษย์
จุดแยกสำคัญ จึงหมายถึงการมีวิถีชีวิตที่ลดละปัญหาผ่อนเบาปลอดพ้นทุกข์ ด้วยการมีปัญญาเป็นเจ้าใหญ่ ที่รู้เข้าใจความจริงแห่งสภาวะทั้งหลายตามกฎธรรมชาติที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งจะพาให้ปฏิบัติจัดการกับมันด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจเท่าทันความจริงของมัน
ทีนี้ สำหรับมนุษย์ที่ไม่เข้าสู่วิถีแห่งปัญญา พูดง่ายๆ ว่า อยู่กับความปรารถนาของจิตใจ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่สนใจที่จะรู้จักเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย แต่เขาก็ไม่มีทางล่วงพ้นที่จะต้องเผชิญแล้วก็ผจญกับลักษณะและอาการที่เป็นความจริงของมัน เพราะเป็นธรรมดาของความเป็นไปที่จะต้องเป็นอย่างนั้น นี่คือที่จริงนั้น เขาก็อยู่กับโลกและชีวิตของเขา ที่รวมอยู่ในสภาวะที่เป็นสรรพสังขารนั่นเอง ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ซึ่งล้วนพาเขาไปพบกับกฎธรรมชาติ ทั้งไตรลักษณ์ และปัจจยาการ ไม่มีทางพ้นไปได้