ไปยังหน้า : |
ได้กล่าวแล้วว่า แกนนำแห่งกระบวนการของการศึกษา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิเป็นแกนนำ และเป็นฐานแล้ว กระบวนการแห่งการศึกษาภายในตัวบุคคลก็ดำเนินไปได้
กระบวนการนี้แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอนใหญ่ๆ เรียกว่า ไตรสิกขา (สิกขา หรือหลักการศึกษา ๓ ประการ) คือ
๑. การฝึกฝนพัฒนาในด้านความประพฤติ ระเบียบวินัย ความสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ เรียกว่า อธิสีลสิกขา ( เรียกง่ายๆ ว่า ศีล)
๒. การฝึกฝนพัฒนาทางจิตใจ การปลูกฝังคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิต เรียกว่า อธิจิตตสิกขา (เรียกง่ายๆ ว่า สมาธิ)
๓. การฝึกฝนพัฒนาทางปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ทำให้แก้ไขปัญหาไปตามแนวทางเหตุผล รู้เท่าทันโลกและชีวิต จนสามารถทำจิตใจให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ ดับกิเลส ดับทุกข์ได้ เป็นอยู่ด้วยจิตใจอิสระผ่องใสเบิกบาน เรียกว่า อธิปัญญาสิกขา (เรียกง่ายๆ ว่า ปัญญา)
หลักการศึกษา ๓ ประการนี้ จัดวางขึ้นไว้โดยอาศัยหลักปฏิบัติที่เรียกว่า วิธีแก้ปัญหาของอารยชนเป็นพื้นฐาน วิธีแก้ปัญหาแบบอารยชนนี้ เรียกตามคำบาลีว่า อริยมรรค แปลว่า ทางดำเนินสู่ความดับทุกข์ ที่ทำให้เป็นอริยชน หรือวิธีดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ
อริยมรรค นี้ มีองค์ประกอบที่เป็นเนื้อหา หรือรายละเอียดของการปฏิบัติ ๘ ประการ คือ
๑. ทัศนะ ความคิดเห็น แนวคิด ความเชื่อถือ ทัศนคติ ค่านิยมต่างๆ ที่ดีงามถูกต้อง มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือตรงตามสภาวะ เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)