| |
ก. การแสวงหา และการรักษาทรัพย์  |   |  

ครั้งหนึ่ง อุชชัยพราหมณ์ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และกราบทูลว่า ตนจะไปอยู่ต่างถิ่น จะขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขปัจจุบัน และธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขภายหน้า

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า:

“ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน กล่าวคือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา

(๑) อุฏฐานสัมปทา เป็นไฉน? คือ กุลบุตรหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงาน ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม ก็ดี พาณิชยกรรม ก็ดี โครักขกรรม ก็ดี ราชการทหาร ก็ดี ราชการพลเรือน ก็ดี ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี เธอเป็นผู้ขยัน ชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้าน ในงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอบสวนตรวจตรา รู้จักวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ สามารถทำ สามารถจัดการ, นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

(๒) อารักขสัมปทา เป็นไฉน? คือ กุลบุตรมีโภคทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เธอจัดการรักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้น โดยพิจารณาว่า ทำอย่างไร ราชาทั้งหลายจะไม่พึงริบโภคะเหล่านี้ของเราเสีย พวกโจรไม่พึงลักไปเสีย ไฟไม่พึงไหม้เสีย น้ำไม่พึงพัดพาไปเสีย ทายาทอัปรีย์จะไม่พึงเอาไปเสีย, นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

(๓) กัลยาณมิตตตา เป็นไฉน? คือกุลบุตรเข้าอยู่อาศัยในคามหรือนิคมใดก็ตาม เธอเข้าสนิทสนมสนทนาปราศรัย ถกถ้อยปรึกษา กับท่านที่เป็นคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา, เธอศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศรัทธา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศีล ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศีล ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยจาคะ ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยปัญญา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญา, นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา

(๔) สมชีวิตา เป็นไฉน? คือกุลบุตรเลี้ยงชีวิตพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป โดยรู้เข้าใจทางเพิ่มพูนและทางลดถอยแห่งโภคทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้ รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งตาชั่งหรือลูกมือคนชั่งยกตาชั่งขึ้นแล้ว ย่อมรู้ว่าหย่อนไปเท่านั้น หรือเกินไปเท่านี้...,

“ถ้าหากกุลบุตรนี้ มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ก็จะมีผู้กล่าวว่าเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ กินใช้ทรัพย์สมบัติเหมือนคนกินมะเดื่อ, ถ้ากุลบุตรนี้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวว่าเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้คงจะตายอย่างคนอนาถา, แต่เพราะกุลบุตรนี้เลี้ยงชีวิตพอเหมาะ...นี้จึงเรียกว่า สมชีวิตา


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |