ไปยังหน้า : |
ดังได้กล่าวแล้วว่า ทางชีวิต หรือการดําเนินชีวิตนั้น เรียกว่า “มรรค” เมื่อดําเนินชีวิตถูกต้อง ก็เป็น การพัฒนาชีวิต พูดง่ายๆ ว่าพัฒนามรรค หรือทําให้มรรคนั้นพัฒนาโดยมีชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดีงามถูกต้อง งอกงามมั่นคงมีคุณค่าที่มั่นใจ
เมื่อมรรคคือการดําเนินชีวิตนั้นพัฒนาก้าวหน้าไปถูกทางเป็นอย่างดี คือเป็นระบบองค์รวมที่พร้อม บริบูรณ์ ซึ่งจะนําไปถึงจุดหมายแห่งความสุขและอิสรภาพ มรรคนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นอริยมรรค ซึ่งมี องค์ประกอบแต่ละอย่างถูกต้องเป็นสัมมา
ทีนี้ การดําเนินชีวิตหรือเดินทางชีวิตที่จะเป็นการพัฒนาชีวิตนั้น ก็ต้องดําเนินให้ถูกทางถูกต้อง ซึ่ง ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเป็นทุนประเดิมอยู่บ้าง เหมือนคนเดินทาง เมื่อตัวเองไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ว่า ใช่ทางหรือไม่ หรือทางไหนผิด ทางไหนถูก ถ้าเขาฉลาด ก็รู้จักไถ่ถามผู้รู้ ฟังคําบอกของผู้รู้ผู้ชํานาญทาง ดู เขาชี้ทาง
ถ้าให้ดีให้มั่นใจยิ่งกว่านั้น ก็ขอฟังผู้ชํานาญทางนั้นบรรยายให้ฟังให้ชัดไปเลยว่า ทางนั้นเริ่มต้นที่นั่น ไปถึงนั่น จะเจออันนั้นๆ อันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่ จะแก้ปัญหาที่จุดนั้นๆ อย่างไร ฯลฯ พูดสั้นๆ ว่าให้มีทุน ความรู้เข้าใจไว้บ้าง นี่คือมรรคนั้น เริ่มต้นด้วยปัญญา โดยมีความรู้เข้าใจให้ตัวมองเห็นและยึดถือไว้ได้ เรียกว่าพอให้มีทิฏฐิที่ถูกต้อง
ทีนี้ก็พูดรวบรัดว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ผู้ชํานาญทาง โดยได้ทรงค้นพบทางคือมรรคหรือมรรคาที่ ถูกต้อง และทรงบุกฝ่าสืบค้นเดินทางนั้นจนได้ลุถึงจุดหมายแล้ว และมิใช่ทรงถึงจุดหมายเท่านั้น แต่ทรง นําเอาประสบการณ์มากมายของพระองค์มาทรงจัดวางแผนการเดินทางไว้เพื่อให้ผู้ต้องการคือมีฉันทะ จะ ได้เดินทางไปได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ กับทั้งได้ทรงชี้ทางให้แก่คนมากมายให้คนเหล่านั้นไปถึงจุดหมาย อย่างพระองค์แล้วด้วย
การเรียนรู้ฝึกหัดเดินทางคือดําเนินมรรคนั้น เรียกว่าศึกษา หรือสิกขา เมื่อฝึก เมื่อหัด เมื่อศึกษาไปๆ ก็เป็นการพัฒนา ก็เดินทางชีวิตคือมรรคนั้นก้าวหน้าไปๆ จนลุถึงจุดหมายดังที่ว่า
ในการนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงจัดทําแผนสิกขาคือการศึกษานี้ไว้เป็นระบบ และมีขั้นตอนลําดับ พร้อม ทั้งรายละเอียดอย่างชัดเจน
เมื่อกี้นี้ได้บอกไว้ข้างต้นแล้วว่า ทางชีวิตหรือการดําเนินชีวิตคือมรรคนั้นเป็นไปตามกระบวนการตาม ธรรมดาธรรมชาติของมันเอง ทีนี้ เมื่อเราจัดการฝึกตามระบบของสิกขา แผนของสิกขาคือการศึกษานั้น ก็ ทําให้กระบวนการของชีวิตดําเนินก้าวหน้าไปตามทางดําเนินของมรรค นี่คือการจัดการของคน (ผู้รู้) ที่ทําให้ กระบวนการของธรรมชาติเดินหน้าเป็นไปตามที่ต้องการ ด้วยปัญญาที่ถึงธรรมเข้าถึงธรรมชาติ
ทวนความย้ำว่า กระบวนการฝึกที่เราตั้งใจจัดการกับชีวิตนี้ เป็นสิกขา ส่วนกระบวนการของชีวิตเอง ที่เป็นไปตามธรรมดาของมันเท่าที่ฝึกศึกษาพัฒนาไปได้ เป็นมรรค เราจึงจัดการฝึกศึกษาพัฒนาคนด้วย สิกขา เพื่อให้คนนั้นมีมรรคที่ก้าวหน้าไปอย่างดี นี่คือสอดคล้องกัน