ไปยังหน้า : |
ความจริงนั้น สติไม่ใช่ตัววิปัสสนา ปัญญา หรือการใช้ปัญญาต่างหาก เป็นวิปัสสนา แต่ปัญญาจะได้โอกาส และจะทำงานได้อย่างปลอดโปร่งเต็มที่ ก็ต่อเมื่อมีสติคอยช่วยกำกับหนุนอยู่ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้วข้างต้น การฝึกสติจึงมีความสำคัญมากในวิปัสสนา
พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การฝึกสติ ก็เพื่อจะใช้ปัญญาได้เต็มที่ หรือเป็นการฝึกปัญญาไปด้วยนั่นเอง ในภาษาของการปฏิบัติธรรม เมื่อพูดถึงสติ ก็มักเล็งและรวมถึงสัมปชัญญะคือปัญญา ที่ควบอยู่ด้วย และสติจะมีกำลังกล้าแข็ง หรือชำนาญคล่องแคล่วขึ้นได้ ก็เพราะมีปัญญาร่วมทำงาน 1558
ปัญญาที่ทำงานร่วมอยู่กับสติในกิจทั่วๆ ไป มักมีลักษณาการที่เรียกว่าสัมปชัญญะ ในขั้นนี้ ปัญญายังดูคล้ายเป็นตัวประกอบ คอยร่วมมือและประสานงานอยู่กับสติ การพูดจากล่าวขานมักเพ่งเล็งไปที่สติ เอาสติเป็นตัวหลักหรือตัวเด่น แต่ในขั้นที่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาอย่างจริงจัง ความเด่นจะไปอยู่ที่ปัญญา สติจะเป็นเหมือนตัวที่คอยรับใช้ปัญญา ปัญญาที่ทำงานในระดับนี้ เช่นที่เรียกว่า ธรรมวิจัย ในโพชฌงค์ ๗ ประการ เป็นต้น
ถึงตรงนี้ เห็นควรทบทวนหลักซึ่งได้แสดงไว้ตั้งแต่เริ่มเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นอาหารหล่อเลี้ยงโพชฌงค์ ๗ และโพชฌงค์ ๗ นั้น ก็หล่อเลี้ยงวิชชาและวิมุตติ โดยยกพุทธพจน์มาย้ำ ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิใช่ไร้อาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ พึงกล่าวว่า คือ โพชฌงค์ ๗, แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิใช่ไร้อาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ พึงกล่าวว่า คือ สติปัฏฐาน ๔,...
“สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์, โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์; วิชชาและวิมุตตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้” 1559
ตามพุทธพจน์นี้ ชัดว่า โพชฌงค์ ๗ เป็นธรรมที่ส่งผลแก่วิชชาวิมุตติ เท่ากับเป็นตัวที่ให้สำเร็จมรรคผล ส่วนสติปัฏฐานก็ช่วยโดยหล่อเลี้ยงโพชฌงค์ ๗ นั้น