ไปยังหน้า : |
“ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพได้กล่าวกะภิกษุผู้ชื่ออานนท์ว่า:...อานนท์ ความมีกัลยาณมิตร มีกัลยาณสหาย ชอบคบหากัลยาณชนนี้ เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือจักยังอริยอัษฎางคิกมรรคให้เกิดมี จักทำได้มากซึ่งอริย-อัษฎางคิกมรรค...เพราะฉะนั้นแล มหาบพิตร พระองค์พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้มีกัลยาณมิตร เป็นผู้มีกัลยาณสหาย เป็นผู้ชอบคบหากัลยาณชน...
“พระองค์ผู้มีกัลยาณมิตร พึงเป็นอยู่โดยใช้หลักธรรมเอกข้อนี้ คือความไม่ประมาท (ไม่ปล่อยปละละเลย) ในกุศลธรรมทั้งหลาย, เมื่อพระองค์ไม่ประมาท เป็นอยู่โดยใช้หลักความไม่ประมาท ปวงนางฝ่ายใน...ขัตติยะทั้งหลายผู้ตามเสด็จ...กองทัพ...และแม้ชาวนิคมและชาวชนบททั้งหลาย ก็จักมีความคิดดังนี้ว่า: พระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ไม่ประมาท ทรงเป็นอยู่โดยใช้หลักความไม่ประมาท เห็นทีว่าแม้พวกเราก็จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท เป็นอยู่โดยใช้หลักความไม่ประมาทเหมือนกัน;
“เมื่อพระองค์ไม่ประมาท เป็นอยู่โดยใช้หลักความไม่ประมาท แม้พระองค์เองก็จักเป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา แม้ปวงนางฝ่ายในก็จักเป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา แม้ยุ้งฉางพระคลังหลวงก็จักเป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา
“ผู้ปรารถนาโภคสมบัติ อันโอฬาร ยิ่งๆ ขึ้นไป พึงมีความไม่ประมาท; บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย, บัณฑิตไม่ประมาท จึงยึดเอาได้ซึ่งอัตถะทั้ง ๒ ประการ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ, คนที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต ก็เพราะบรรลุอัตถะ”1105
อัตถะ หรือ อรรถ แปลว่า เรื่องราว ความหมาย ความมุ่งหมาย ประโยชน์ ผลที่หมาย หรือจุดหมาย ในที่นี้แปลเอาความว่า ประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย หรือจุดหมายของชีวิต หมายถึงจุดหมายของพรหมจรรย์ หรือจริยธรรม หรือระบบการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนานั่นเอง