| |
พัฒนากามสุขที่สุขแย่งกัน ให้มีความสุขที่สุขด้วยกัน  |   |  

มองออกไปอีกด้านหนึ่ง แม้แต่ท่ามกลางกามสุขที่ผูกอยู่กับความเห็นแก่ตัว เมื่อมนุษย์มีธรรมชุดพรหมวิหารมาแผ่ขยายจิตใจออกไปแล้ว จิตใจของเขาก็จะเริ่มคลายออกจากความเห็นแก่ตัวนั้น เขาจะมีจิตใจที่ไม่แต่เพียงคิดอยากได้โน่นได้นี่ และหาทางให้ได้เสพสมปรารถนาแล้วก็มีความสุข เอาสุขแต่ตัว แต่ตอนนี้เขาไม่คิดแค่นั้น บางครั้งเขาคิดถึงความสุขของคนอื่นขึ้นมาบ้าง และเขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ที่พอจะมาถ่วงมาดุลได้บ้าง คือฉันทะและความสุขเชิงสังคมนี้ ที่ว่า เมื่อเห็นใคร ก็อยากให้เขามีหน้าตาดี มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีความสุข เป็นต้น ไม่ใช่เอาแค่ตัว แต่คิดจะให้คนอื่นเป็นสุขด้วย

อย่างที่ว่าแล้ว แค่อยากให้เขามีความสุข ก็เป็นเมตตา ก็คือไมตรี หรือมีความเป็นมิตรนั่นเอง ถ้าอยากให้เขาพ้นจากทุกข์ ก็เป็นกรุณา ถ้าพลอยสุขด้วยเมื่อเขามีความสุขสำเร็จยิ่งขึ้นไป ก็เรียกว่ามุทิตา แล้วเมื่อเขาจะทำอะไรผิดพลาด เราอยากให้เขาอยู่ในความถูกต้อง เป็นไปในทางที่ชอบธรรม เราก็วางใจอยู่ในอุเบกขาที่จะรักษาธรรมไว้ พอมี ๔ อย่างนี้ จิตใจคนก็กว้างใหญ่แผ่ขยายออกไป สมอย่างที่เรียกว่าเป็นพรหม แล้วคนก็มีความสุขเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือ เป็นความสุขร่วมกัน หรือสุขด้วยกัน

ถ้าอยู่แค่ความสุขแบบกามสุข คือความสุขที่อาศัยอามิสวัตถุภายนอก ก็แน่ชัดว่า จะเป็นความสุขแบบแย่งกัน แย่งกันสุข ชิงกันสุข ถ้าฉันได้ คุณก็เสีย หรือฉันได้ คุณอด คุณได้ ฉันอด ถ้าฉันสุข เขาก็ไม่ได้สุข หรือเขาอาจจะทุกข์ไปเลย หรือถ้าเขาสุข ฉันก็ไม่ได้สุข หรือฉันอาจจะได้ความทุกข์ สรุปก็คือ ไม่ได้สุขร่วมกัน แต่เป็นการแย่งกันสุข หรือสุขแบบแย่งกัน

อย่างที่พูดแล้ว ผลเสียที่สำคัญของกามสุข หรือสามิสสุข อยู่ตรงนี้ และที่โลกเดือดร้อน มีปัญหาเบียดเบียนรบราฆ่าฟันกันนัก ก็เพราะแย่งกามสุขกันนี่แหละ จึงต้องปฏิบัติจัดการกับมันให้ลดปัญหา และขยายประโยชน์ พร้อมทั้งให้คนพัฒนาสูงขึ้นไป

แต่ถ้าเป็นความสุขจากชุดพรหมวิหาร เริ่มแต่เมตตาไป ก็เป็นการร่วมกันสุข คือเป็นความสุขร่วมกัน สุขด้วยกัน อยากให้เขามีความสุข เมื่อเขาสุขสมใจเราแล้ว เราก็สุขด้วย แม่ต้องการให้ลูกมีความสุข ถ้าลูกยังไม่สุข แม่ก็สุขไม่ได้ ต้องให้ลูกมีความสุข แม่จึงจะเป็นสุขได้ ลูกสุขได้ แม่ก็สุขด้วย ก็จึงสุขด้วยกัน ร่วมกันสุข


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |