ไปยังหน้า : |
ในมหานิทานสูตร 374 ซึ่งเป็นพระสูตรที่สำคัญมากสูตรหนึ่ง และเป็นสูตรใหญ่ที่สุดที่แสดงปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักปัจจยาการ ทั้งที่เป็นไปภายในจิตใจของบุคคล และที่เป็นไปในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือในทางสังคม แต่เท่าที่กล่าวมาแล้วในหนังสือนี้ ได้อธิบายเฉพาะปัจจยาการภายในจิตใจของบุคคล หรือปัจจยาการแห่งชีวิตอย่างเดียว ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไป เห็นควรกล่าวถึงปฏิจจสมุปบาทในฐานะปัจจยาการทางสังคมไว้สักเล็กน้อย พอเป็นเค้าเป็นแนว แม้ว่าในที่นี้จะยังไม่มีโอกาสบรรยายเรื่องนี้โดยพิสดาร
ปฏิจจสมุปบาทแห่งทุกข์ หรือความชั่วร้ายทางสังคม ก็ดำเนินมาตามวิถีเดียวกันกับปฏิจจสมุปปบาทแห่งทุกข์ของชีวิตนั่นเอง แต่เริ่มแยกออกแสดงอาการที่เป็นไปภายนอกต่อแต่ตัณหาเป็นต้นไป แสดงพุทธพจน์ เฉพาะช่วงตอนนี้ ดังนี้
“อานนท์! ด้วยประการดังนี้แล อาศัยเวทนา จึงมีตัณหา อาศัยตัณหา จึงมีปริเยสนา (การแสวงหา) อาศัยปริเยสนา จึงมีลาภะ (การได้) อาศัยลาภะ จึงมีวินิจฉัย (การกะการ) อาศัยวินิจฉัย จึงมีฉันทราคะ (ความติดใคร่ใฝ่กระสัน) อาศัยฉันทราคะ จึงมีอัชโฌสาน (ความฝังใจพะวง) อาศัยอัชโฌสาน จึงมีปริคคหะ (การยึดถือครอบครอง) อาศัยปริคคหะ จึงมีมัจฉริยะ (ความหวงแหนตระหนี่) อาศัยมัจฉริยะ จึงมีอารักขะ (ความเก็บกั้นป้องกัน) อาศัยอารักขะ สืบเนื่องจากอารักขะ จึงมีการถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาท ขึ้นเสียงด่าว่า มึง! มึง! การส่อเสียด มุสาวาท บาปอกุศลธรรม (ปัญหาความชั่วร้าย) ทั้งหลาย เป็นอเนก ย่อมเกิดมีพรั่งพร้อมด้วยอาการอย่างนี้...” 375