ไปยังหน้า : |
ยังมีการเข้าใจผิดกันมาก หลายคนคิดว่า ถ้ากระตุ้นตัณหา ทำให้คนโลภมากๆ จะได้ขยันทำงานกันยกใหญ่ เพื่อจะได้มีใช้มีเสพ ว่ากันให้ฟุ้งเฟ้อเหลือล้นไปเลย แล้วทีนี้ เศรษฐกิจจะดี จะขยายตัวมากมาย
ดูเผินๆ ที่ว่ามา คล้ายว่าจะเป็นอย่างนั้นจริง แต่ไม่ใช่ ยังดูไม่เป็น จึงได้พลาดกันมา ควรศึกษากันให้ดี
อันนั้น พูดสั้นๆ ว่า เป็น ความฉลาดในการจัดการตัณหา ในระบบเงื่อนไข แต่ถึงจะฉลาดจัดการเก่งอย่างไร วิธีนี้ก็แทบไม่มีทางจะสร้างคนอย่างไอน์สไตน์ขึ้นมาได้ จะได้ก็แค่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ซึ่งบางทีก็ทำให้ประชาชนตื่นและเต้นกันไปเต้นกันมา ตามผลการวิจัยผ่านไอที ชนิดที่ไม่ได้แก่นสารจริงจัง ถ้าจะผ่อนเบาปัญหา ก็ต้องเอาฉันทะมาช่วยอีกนั่นแหละ)
ดูเรื่องง่ายๆ ก่อน แค่ร่างกายแขนขาหน้าตาของตัวนี่เอง คนหนึ่งมีฉันทะ ก็ใส่ใจดูแลด้วยอยากให้มันแข็งแรงสะอาดหมดจดสดใสอยู่ในภาวะที่ดีงามสมบูรณ์ของมัน อีกคนหนึ่งอยู่กับตัณหา ตามปกติจึงขี้เกียจ ไม่ดูแลมันเลย ต่อมาเกิดตัณหา จะยั่วยวนล่อตาคนอื่น จึงเป็นเงื่อนไขให้ต้องพยายามแต่งให้สวยที่สุด ขอให้ดูว่า ใน ๒ รายนี้ อย่างไหนดีกว่า อย่างไหนจะพอดี และให้ผลดีแก่ชีวิตร่างกายมากกว่า นี่คือง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน
ทีนี้ก็มาดู ระบบเงื่อนไข ในการจัดการตัณหา
เมื่อกี้ ได้บอกให้เห็นความแตกต่างระหว่างกระบวนการของฉันทะ กับกระบวนการของตัณหา อย่างที่ ๑ แล้ว คือ ในกระบวนการของตัณหา จะเกิดมีอัตตา หรือตัวตนขึ้นมา
ทีนี้ ก็ถึงความแตกต่างอย่างที่ ๒ คือ กระบวนการของตัณหา ที่ใช้ตัณหาเป็นแรงจูงใจ เป็นตัวขับเคลื่อนอารยธรรมด้วยระบบเงื่อนไข (พร้อมกับเป็นกลไกของการพัฒนาที่เรียกกันว่าไม่ยั่งยืน)
พอตัณหาเกิดขึ้น ก็อยากจะเสพ แต่ยังไม่มีของที่จะเสพ ก็หาทางจะได้จะเอามา ตอนนี้มันจะไม่เดินหน้าไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย แต่จะมาเชื่อมต่อเข้ากับกระบวนการแบบเงื่อนไข
ตรงนี้ ขอให้สังเกต เดี๋ยวจะเถียงว่า เออ ตัณหาก็ทำให้อยากทำเหมือนกันนี่ เปล่า ไม่ใช่อยากทำหรอก ตัณหามันอยากจะเสพ อยากจะได้ อยากจะเอา แต่มันยังไม่มีจะเสพ มันยังไม่ได้ แล้วทำอย่างไรจะได้มาเสพล่ะ ก็เลยมาเข้ากับระบบเงื่อนไขว่า คุณต้องทำนี่ แล้วคุณจะได้นั่น ถ้าคุณไม่ทำอันนี้ คุณก็ไม่ได้อันนั้น
นี่แหละ ตัณหาจึงทำให้เกิดการกระทำในระบบเงื่อนไข