ไปยังหน้า : |
ได้พูดไว้ข้างต้นว่า สิกขาเป็นการจัดการจากภายนอก โดยว่าไปตามรายการที่กําหนดให้ฝึกให้ศึกษา เป็นเรื่องๆ เป็นชุดๆ ไป ในแบบแยกส่วน ตามแผนของสิกขา
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น จะให้คนเรียนรู้ ให้ฝึก ให้ศึกษา เพื่อจะได้เป็นคนมีศีล
ก่อนจะพูดต่อไป ขอทําความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า ในเรื่องธรรมะ และในเรื่องพระพุทธศาสนาทั่วๆ ไปนั้น ในภาษาไทย มีปัญหาเรื่องถ้อยคําที่เพี้ยนความหมาย มากมายไปหมด เช่น มานะ มีความหมายเดิมว่าอยาก ใหญ่อยากโตถือตัว แต่ในภาษาไทยกลายเป็นมุ่งมั่นพากเพียร อิจฉา เดิมว่าความอยาก แต่ในภาษาไทย กลายเป็นริษยา ภาวนา เดิมว่าพัฒนา แต่ในภาษาไทยกลายเป็นพร่ําบ่นคิดหมายให้สม ดังนี้เป็นต้น
ศีล ก็เป็นคําหนึ่งที่คนไทยเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างน้อยก็พร่ามัวคลุมเครือ จึงต้องทําความเข้าใจให้ชัดก่อน
ศีลนั้น ในความหมายที่จริงแท้ หรือเคร่งครัด เป็นคุณสมบัติในตัวคน เช่นว่าเขาเป็นคนมีศีล ก็คือเขา มีความประพฤติ มีพฤติกรรมการแสดงออกทางกายทางวาจาที่ดี ไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อน เสียหาย แต่คนไทยมักมองศีลในความหมายว่าเป็นกฎ เป็นข้อห้าม เป็นข้อๆ ซึ่งอยู่ข้างนอก ที่จะต้องเอาไป ปฏิบัติ ไปทําตาม ซึ่งท่านก็ยอมให้ใช้ในความหมายอย่างนั้นได้บ้าง ในระดับที่เป็นภาษาพูด หรือไม่เป็น ทางการ เช่นที่พูดว่าขอศีล เอาศีล ๕ ไปรักษา
ในที่นี้ ขอนําเอาเนื้อความที่เคยพูดไว้ที่อื่นมาเล่าเป็นการอธิบายดังนี้ว่า ถึงแม้ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ นั้น ท่านปล่อยให้เรียกได้ในการพูดจาทั่วไป แต่พอจะเอาจริงจัง จะทําเป็นกิจจะลักษณะ คือในเวลาสมาทาน (จะรับจะถือเอาไปปฏิบัติจริงจัง ที่เรียกกันวารับศีล) ท่านให้พูดว่า สิกขาบท ๕ สิกขาบท ๘ สิกขาบท ๑๐ ศีลของพระภิกษุ ที่ชาวบ้านพูดว่าศีล ๒๒๗ นั้น คําที่ถูกต้องคือ ๒๒๗ สิกขาบท
เพราะฉะนั้น ขอให้สังเกต เราได้ยินพูดกันเรื่อยว่า ชาวบ้านมาขอศีล แล้วเราก็พูดกันว่า พระให้ศีล แต่ดูให้ชัดสิ ที่จริง พระไม่ได้ให้ศีล พระไม่เคยให้ศีล ขอให้ดูคําที่ท่านว่าจริงๆ ไม่มีหรอก พระไม่เคยให้ศีล โยมมาขอศีล แล้วท่านให้อะไร
ทีนี้ก็ดูกันให้ชัด ญาติโยมมาขอศีล มาถึง ก็ว่า
มยํ ภนฺเต, (วิสุํ วิสุํ รกฺขนตฺถาย), ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.
บอกวา : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอศีล ๕ พร้อมทั้งไตรสรณะ (เพื่อจะรักษาแยกเป็นข้อๆ)