| |
ข. ผลของการปฏิบัติ  |   |  

๑. ในแง่ความบริสุทธิ์ เมื่อสติจับอยู่กับสิ่งที่ต้องการอย่างเดียว และสัมปชัญญะรู้เข้าใจสิ่งนั้นตามที่มันเป็น ย่อมเป็นการควบคุมกระแสการรับรู้และความคิดไว้ให้บริสุทธิ์ ไม่มีช่องที่กิเลสต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ และในเมื่อวิเคราะห์มองเห็นสิ่งเหล่านั้น เพียงแค่ตามที่มันเป็น ไม่ใส่ความรู้สึก ไม่สร้างความคิดคำนึง ตามความโน้มเอียงและความใฝ่นิยมต่างๆ ที่เป็นสกวิสัย (subjective) ลงไป ก็ย่อมไม่มีความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ไม่มีช่องที่กิเลสทั้งหลาย เช่น ความโกรธ จะเกิดขึ้นได้ เป็นวิธีกำจัดอาสวะเก่า และป้องกันอาสวะใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น

๒. ในแง่ความเป็นอิสระ เมื่อมีสภาพจิตที่บริสุทธิ์อย่างในข้อ ๑. แล้ว ก็ย่อมมีความเป็นอิสระด้วย โดยจะไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เพราะอารมณ์เหล่านั้นถูกใช้เป็นวัตถุสำหรับศึกษาพิจารณาแบบสภาววิสัย (objective) ไปหมด เมื่อไม่ถูกแปลความหมายตามอำนาจอาสวะที่เป็นสกวิสัย (subjective) สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีอิทธิพลตามสกวิสัยแก่บุคคลนั้น และพฤติกรรมต่างๆ ของเขา จะหลุดพ้นจากการถูกบังคับด้วยกิเลสที่เป็นแรงขับ หรือแรงจูงใจไร้สำนึกต่างๆ (unconscious drives หรือ unconscious motivations) เขาจะเป็นอยู่อย่างที่เรียกว่า ไม่อิงอาศัย (คือ ไม่ต้องขึ้นต่อตัณหาและทิฏฐิ) ไม่ถือมั่นสิ่งใดในโลก

๓. ในแง่ของปัญญา เมื่ออยู่ในกระบวนการทำงานของจิตเช่นนี้ ปัญญาย่อมทำหน้าที่ได้ผลดีที่สุด เพราะจะไม่ถูกเคลือบหรือหันเหไปด้วยความรู้สึก ความเอนเอียง และอคติต่างๆ ทำให้รู้เห็นได้ตามที่มันเป็น คือ รู้ตามความจริง

๔. ในแง่ความพ้นทุกข์ เมื่อจิตอยู่ในภาวะตื่นตัว เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น และคอยรักษาท่าทีของจิตอยู่ได้เช่นนี้ ความรู้สึกเอนเอียงในทางบวกหรือลบต่อสิ่งนั้นๆ ที่มิใช่เป็นไปโดยเหตุผลบริสุทธิ์ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ จึงไม่มีทั้งความรู้สึกในด้านติดใคร่กระหายอยาก (อภิชฌา) และความขัดเคืองกระทบใจ (โทมนัส) ปราศจากอาการกระวนกระวาย (anxiety) ต่างๆ เป็นภาวะจิตที่เรียกว่าพ้นทุกข์ มีความโปร่งเบา ผ่อนคลาย สงบ ผ่องใส เป็นตัวของตัวเอง อย่างไม่มีขีดคั่นพรมแดน

ผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ความจริงก็สัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน เป็นแต่แยกส่วนในแง่ต่างๆ เมื่อสรุปตามแนวปฏิจจสมุปบาทและไตรลักษณ์ ก็ได้ความว่า เดิมนั้น มนุษย์ไม่รู้ว่าตัวตนที่ยึดถือไว้ ไม่มีจริง เป็นเพียงกระแสของรูปธรรมนามธรรมส่วนย่อยจำนวนมากมาย ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อกัน กำลังเกิดขึ้นและเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

เมื่อไม่รู้เช่นนี้ จึงยึดถือเอาความรู้สึกนึกคิด ความปรารถนา ความเคยชิน ทัศนคติ ความเชื่อถือ ความเห็น การรับรู้ เป็นต้น ในขณะนั้นๆ ว่าเป็นตัวตนของตน แล้วตัวตนนั้นก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยไป รู้สึกว่า ฉันเป็นนั่น ฉันเป็นนี่ ฉันรู้สึกอย่างนั้น ฉันรู้สึกอย่างนี้ ฯลฯ

การรู้สึกว่าตัวฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คือการถูกความรู้สึกนึกคิด เป็นต้น ที่เป็นนามธรรมส่วนย่อยในขณะนั้นๆ หลอกเอานั่นเอง เมื่ออยู่ในภาวะถูกหลอกเช่นนั้น ก็คือการตั้งต้นความคิดที่ผิดพลาด จึงถูกชักจูงบังคับให้คิดเห็นรู้สึกและทำการต่างๆ ไปตามอำนาจของสิ่งที่ยึดว่าเป็นตัวตนของตนในขณะนั้นๆ

ครั้นมาปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ก็มองเห็นรูปธรรมนามธรรมแต่ละอย่าง ที่เป็นส่วนประกอบของกระแสนั้น กำลังเกิดดับอยู่ตามสภาวะของมัน เมื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบต่างๆ ในกระแส แยกแยะออกมองเห็นกระจายออกไปเป็นส่วนๆ เป็นขณะๆ มองเห็นอาการที่ดำเนินสืบต่อกันเป็นกระบวนการแล้ว ย่อมไม่ถูกหลอกให้ยึดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นตัวตนของตน และสิ่งเหล่านั้นก็หมดอำนาจบังคับให้บุคคลอยู่ในบงการของมัน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |